สายวันนี้ (24 ตุลาคม 2563) จังหวัดน่าน อบจ.น่าน อพท. สถาบันพัฒนาเครือข่ายสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เทศบาลเมืองน่าน ทีมท่องเที่ยวน่าน และภาคีพัฒนาเมืองน่านร่วมกันจัดงานประชุมนานาชาติด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านจังหวัดน่าน2020 โดยมีนายวิบูลย์. แววบัณฑิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิดการประชุม

นายสุขสันต์ เพ็งดิษฐ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 น่านได้รายงานถึงการจัดประชุมนานาชาติ NAN Crafts and Folk Art Forum 2020 ในครั้งนี้เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการดำเนินของการเป็นเมืองสร้างสรรค์กับสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ประกอบด้วย ภูเก็ต เชียงใหม่สุโขทัย กรุงเทพ เมืองอิคซอน ประเทศเกาหลีใต้ เมืองคานาซาวะและเมืองทัมบบะ ซาซายาม่า ประเทศญี่ปุ่น

และภาคีเครือข่ายการพัฒนาทั้ง 15 อำเภอของจังหวัดน่าน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพความพร้อมให้จังหวัดน่านที่จะสมัครเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก โดยให้ได้รับการรับรองในปี 2564 และผ่านการประเมินสถานภาพรอบ 4 ปีแรกในปี 2567 การประชุมประกอบด้วยการเสวนา เช่น ดร.ซุง บี แฮน์ จาก องค์การยูเนสโก กรุงเทพ หัวข้อทุนทางวัฒนธรรมกับเมืองสร้างสรรค์ เป็นต้น การประชุมร่วมกับเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกผ่านระบบออนไลน์ ในหัวข้อ การเป็นเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก กับ เกาหลีใต้และญี่ปุ่น

สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลในการใช้การท่องเที่ยวเป็นกลไกในการเพิ่มและกระจายสู่ชุมชน ดังนั้นในปีงบประมาณ 2563 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.ได้มอบหมายให้สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 รับผิดชอบบริหารจัดการการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน

โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการร่วมกับจังหวัดน่าน องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนท้องถิ่น ขับเคลื่อนยกระดับเมืองน่าน สู่การเป็น เมืองสร้างสรรค์ของ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก โดยเป็นเมืองที่ต้อง

มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และมีส่วนสำคญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม. มีรากฐานทางสังคมและวัฒนธรรม มีการรวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่นของคนที่ทำงานสร้างสรรค์ คนและวัฒนธรรมท้องถิ่นมีส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองเป็นพื้นที่ในการแสดงออกความคิดสร้างสรรค์ เป็นการทำงานร่วมกันของภาคประชาชน สังคม เอกชนและภาครัฐ การมีส่วนร่วมของพลเมือง และผู้เกี่ยวข้องกับงานด้านวัฒนธรรม มีการทำงานร่วมกัน มีพื้นที่สาธารณะ

เพื่อการพัฒนาเมืองที่สามารถตอบโจทย์ให้แก่คนท้องถิ่น นำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่ เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ ทุกภาคส่วนร่ามคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างสรรค์ เอื้อต่อการกำหนดนโยบาย. การลงทุน การสาธารณูปโภค ทั้งยังต้องมีกิจกรรมระดับเมืองและระดับชาติที่หลากหลาย ที่สะท้อนเอกลักษณ์และภาพลักษณ์ของเมืองอย่างสร้างสรรค์
/บุญยงค์ สดสอาด รายงาน