วันนี้(9 ธันวาคม 2563) ณ วัดช่างฆ้อง ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถลงข่าวขับเคลื่อนโครงการ “การรื้อฟื้นการผลิตกระจกเกรียบและจืนแบบโบราณ เพื่องานบูรณะและอนุรักษ์”


โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ),รองศาสตราจารย์ ดร.กมลพรรณ เพ็งพัด นักวิจัยสังกัดภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,นาย รชต ชาญเชี่ยว ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2563 (กระจกเกรียบ) ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมควบคู่กับวิทยาการด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์


โดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ใหม่จากประสบการณ์และภูมิปัญญาของคนไทย ซึ่งเป็นฐานรากที่มั่นคงในการเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ รวมถึงทดแทนการนำเข้าหรือพึ่งพาองค์ความรู้จากต่างประเทศ และเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมที่อยากเห็นกระทรวงฯ “เป็นกระทรวงแห่งพหุวิทยาการและสหวิทยาการ

ตั้งใจทำนุบำรุงศิลปะวิทยาการทุกด้าน หนุนงานสังคม มนุษยศาสตร์ ควบคู่กับการพัฒนางานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี”

โดยในปี 2559 วช. ได้สนับสนุนการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาแก้วคริสตัลปราศจากตะกั่วและการประดิษฐ์แก้วคริสตัลบาง” ภายใต้แผนงานเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมด้านวัสดุนาโนและนาโนเทคโนโลยี และปัจจุบันได้พัฒนางานที่เน้น “การประดิษฐ์แก้วคริสตัลบางเพื่อประยุกต์เป็นกระจกโบราณ” ร่วมกับโรงงานการผลิตกระจกโบราณของ นายรชต ชาญเชี่ยว และคณะ เพื่อพัฒนาสูตรกระจกโบราณใหม่ ๆ เป็นกระจกจืนและกระจกเกรียบ ซึ่งมีสีและสมบัติที่คล้ายคลึงกับกระจกเกรียบโบราณเป็นอย่างมาก จนสามารถนำกระจกจืนและกระจกเกรียบไปบูรณะโบราณสถานและโบราณวัตถุได้หลายแห่ง

อีกทั้งยังสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบประดับกระจกจืนและกระจกเกรียบที่สามารถนำไปใช้งานในการบูรณะโบราณสถานและโบราณวัตถุ และสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ใช้กระจกจืนและกระจกเกรียบตกแต่งเพื่อขยายผลเชิงพาณิชย์ในอนาคตอีกด้วย

จึงนับได้ว่าผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการ ที่สามารถต่อยอดทั้งเชิงพาณิชย์และสามารถนำไปทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย และ วช. จะสนับสนุนโครงการวิจัยในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อรักษามรดกอันทรงคุณค่าให้คงอยู่เคียงคู่คนไทยสืบไป



จากนั้นทางคณะได้ร่วมกันร่วมถวายสัตภัณฑ์ที่ประดับกระจกจืนที่ได้จากงานวิจัย ณ วัดช่างฆ้อง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจาก ศิลปิน “ฝุ่น หอสูง” นายชาญยุทธ โตบัณฑิต ออกแบบและสร้างสัตภัณฑ์
นที บุญมี ข่าวมุมเหนือ
Like (0)