วันนี้( 22 มีนาคม 2564) ณ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วย “5G Powered Smart University Enabled with Cloud and AI” ระหว่าง บริษัท หัวเว่ยเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


โดยมีศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ยเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด มีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีพร้อมด้วย นายพิริยะ เข็มพล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรองศาสตราจารย์ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ร่วมให้เกียรติเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามด้วย


โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับและติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีและการใช้เทคโนโลยี 5G ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย เพื่อให้มีห้องเรียนอัจฉริยะและโซลูชั่นเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากการมีความร่วมมือด้านวิจัยที่กว้างขึ้นแล้ว ยังให้บริการเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Big Data และบริการ Cloud



ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่น ๆ ภายในมหาวิทยาลัย เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ศูนย์บริหารและการจัดการเมืองอัจฉริยะ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ จะกลายเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ โดยได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลล่าสุดและบริการขั้นสูงด้วยเทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยีด้านอื่นๆ


ซึ่งการบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีเป้าหมายที่จะเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนและเป็นผู้นำด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เพิ่มพูนเทคโนโลยีและการพัฒนาทักษะซึ่งนอกเหนือจากข้อได้เปรียบทางวิชาการแล้วยังเป็นแบบอย่างสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะรับทราบถึงประโยชน์ของโซลูชันที่รวดเร็วและมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้กับธุรกิจเฉพาะของตน

ด้านศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย นายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเป็นพันธมิตรระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับหัวเว่ย ว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับการพัฒนาในยุคดิจิทัล เทคโนโลยี 5G นับว่าเป็นกุญแจสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ อุตสาหกรรม เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลในทุกๆ ด้าน

อาทิ Smart Agriculture, Smart Hospital, Smart City, Smart Port, Smart Campus, Smart Store และ Smart Entertainment เพื่อสร้างการเติบโตทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G เพื่อการศึกษาและนำไปสู่ Digital Transformation ซึ่งเป็นเป้าหมายที่จะพัฒนาให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก้าวไปเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลชั้นนำ และยังตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาประเทศได้”

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความร่วมมือของ มช. กับ หัวเว่ย ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัย ที่จะนำความทันสมัยของเทคโนโลยี 5G มาขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษา พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีสนับสนุนการวิจัยที่รองรับการเติบโตของโลกยุคดิจิทัล และนำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ 5G แห่งแรกในอาเซียน CMU : Moving Forward to “5G Campus : First in ASEAN” (The First 5G campus in ASEAN)

ยกระดับมาตรฐานการศึกษาของไทยให้ดียิ่งขึ้น” ในส่วนของศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดี ได้กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และหัวเว่ยประสบความสำเร็จในการเป็นพันธมิตรทางวิชาการเป็นอย่างดี และผมมั่นใจว่าความร่วมมือในวันนี้จะก่อให้เกิดความสำเร็จในการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ ไม่เพียงแต่ด้านการศึกษา แต่รวมทั้งการพัฒนาในด้านอื่นๆ ต่อไป เพราะนโยบายของเราคือการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล โดยเราจะสร้างความ

ร่วมมือกับองค์กรทั้งในภาครัฐและเอกชนต่างๆ เพื่อการเป็น ‘มหาวิทยาลัยชั้นนำที่มุ่งมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน’”

ด้านนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย ได้กล่าวสั้นๆ ถึงความร่วมมือในวันนี้ว่า “รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกครั้ง หัวเว่ยมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนางานร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีจำนวนนักศึกษากว่า 35,000 คน โดยการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวไม่เพียงแต่นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสังคม ท้องถิ่น และประเทศโดยรวม”

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือกับหัวเว่ยครั้งแรกไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT ผ่านโครงการ Huawei ICT Academy ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรภาคปฏิบัติและการฝึกอบรมภาคปฏิบัติสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอาชีพที่ประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัลต่อไป
คลิปวีดีโอ
พัชรินทร์ คันธรส/ นที บุญมี ข่าวมุมเหนือ
Like (0)