“การเปิดตัวบริการเริ่มยาต้านไวรัสภายในวันเดียวกับวันที่ตรวจพบการติดเชื้อ ณ ศูนย์สุขภาพชุมชน
ระหว่าง โรงพยาบาลหางดง และ คลินิกเทคนิคการแพทย์แคร์แมท เชียงใหม่”
ณ คลินิกเทคนิคการแพทย์แคร์แมท เชียงใหม่
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 โรงพยาบาลหางดง ร่วมกับคลินิกเทคนิคการแพทย์แคร์แมท เชียงใหม่ จัดงานเปิดตัวบริการเริ่มยาต้านไวรัสในวันเดียวกับวันที่ทราบผลการติดเชื้อเอชไอวี ณ ศูนย์สุขภาพชุมชน (Community-Based Same-Day Antiretroviral Treatment: CB-SDART) โดยการสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ผ่านโครงการ EpiC ประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) มูลนิธิแคร์แมท จึงสามารถขยายการให้บริการไปยังกลุ่มประชากรหลักในจังหวัดเชียงใหม่
ภายในงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นพ.นิมิตร อินปั๋นแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นประธาน โดยมีนายศตายุ สิทธิกาน ผู้อำนวยการมูลนิธิแคร์แมท ทพญ.ปาริชาติ ลุนทา ผู้อํานวยการกลุ่มสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 1 เชียงใหม่ นพ.สุรเชษฐ์ อรุโณทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ นพ.สุเมธ ใจอินผล ผู้แทนโรงพยาบาลหางดง และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมแสดงความยินดีในความก้าวหน้า และความสำเร็จของการทำงานด้านเอชไอวีและเอดส์ในจังหวัดเชียงใหม่
โดยบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคมในการดำเนินกิจกรรมเพื่อยุติปัญหาเอดส์ในจังหวัดเชียงใหม่ตามยุทธศาสตร์เร่งรัดการยุติปัญหาเอดส์ของประเทศไทยภายในปี พ.ศ. 2573
ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 โรงพยาบาลหางดง และมูลนิธิแคร์แมท ร่วมมือจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตลอดจนการให้บริการตรวจเชื้อเอชไอวีแบบเคลื่อนที่ (Mobile Voluntary Counseling and Testing: Mobile VCT) เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ
ใน พ.ศ. 2565 ได้ขยายความร่วมมือในการให้บริการผู้ที่ตรวจพบเชื้อเอชไอวีเพื่อรับยาต้านเอชไอวีภายในวันเดียวที่โรงพยาบาล
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริการดังกล่าว จึงร่วมพัฒนาแนวทางการจัดบริการเริ่มยาต้านไวรัสในวันเดียวกันกับวันที่ทราบผลการติดเชื้อเอชไอวี ณ ศูนย์สุขภาพชุมชน เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงการดูแล และการรักษาได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพตามมาตรฐานผ่าน การจัดบริการโดยเจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพชุมชนที่ผ่านการรับรองเป็นอาสาสมัครองค์กรภาคประชาสังคม จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
โดยเน้นการจัดบริการที่เป็นมิตร ปราศจากการตีตราและ การเลือกปฏิบัติ พร้อมทั้งให้การช่วยเหลือผู้รับบริการในด้านการย้ายสิทธิการรักษา และส่งต่อไปยังสถานพยาบาลตามสิทธิ การเริ่มการรักษาอย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอทำให้จำนวนเชื้อเอชไอวีลดลงจนตรวจไม่พบ และส่งผลให้ไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อให้แก่ผู้อื่นได้ ตลอดจนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย
นอกจากนั้นยังเป็นการตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของจังหวัดเชียงใหม่ที่ตั้งเป้าการเข้าถึงการรักษามากกว่าร้อยละ 95 และพร้อมมุ่งไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
Like (1)