หน้าแรก ซะป๊ะ...เรื่องเก่า ใครเป็นคนแต่ง? คำขวัญ จ.เชียงใหม่ “ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า” ใช้มาถึง 34 ปี

ใครเป็นคนแต่ง? คำขวัญ จ.เชียงใหม่ “ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า” ใช้มาถึง 34 ปี

2336
0

“ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า บุปผชาติล้วนงามตา นามล้ำค่านครพิงค์”

คำขวัญนี้เริ่มเชิญชวนให้ประชาชนทั่วประเทศส่งคำขวัญเข้าร่วมประกวดระหว่างวันที่ 15 มกราคม-15 มีนาคม 2532 และตัดสินในวันที่ 27 มีนาคม 2532 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาจารย์สถาบันการศึกษาต่างๆ ร่วมตัดสิน ผลการตัดสินคณะกรรมการเลือกคำขวัญของนายสุพจน์ นิ่มรัตนพันธ์ ชาวเมืองเชียงใหม่ชนะเลิศจากคำขวัญที่ส่งทั้งสิ้น 1,566 คำขวัญและใช้คำขวัญนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติผู้แต่งคำขวัญประจำจังหวัดเชียงใหม่ คือ นายสุพจน์ นิ่มรัตนพันธ์ ปัจจุบันอายุ 63 ปีเกิดปี พ.ศ.2503 เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 7 คนของนายตึ๊ง แซ่นิ้มและนางนวล สกุลเดิม ยะจา ครอบครัวมีอาชีพค้าขายโดยบิดาเปิดร้านอาหารจีนชื่อร้านศรีสุมิตร เดิมตั้งอยู่ที่ชั้นสองของตลาดเจ๊กโอ๊ว(ตลาดนวรัฐ)ต่อมาย้ายมาที่ถนนราชมรรคาและถนนลอยเคราะห์

วัยเด็กนายสุพจน์ นิ่มรัตนพันธ์ เข้าเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนศรีวิทยา ถนนเจริญเมือง ต่อมาเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 5 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังจากนั้นไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลจบระดับ ปวส. หลังจากนั้นออกมาช่วยครอบครัวค้าขายโดยดูแลกิจการร้านศรีสุมิตรแทนบิดาที่เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.2527

นายสุพจน์ นิ่มรัตนพันธ์ เล่าเรื่องการส่งคำขวัญเข้าประกวดในปี พ.ศ.2532 ว่า “ตอนนั้นผมทำงานดูแลร้านศรีสุมิตรแทนพ่อ ร้านตั้งอยู่ถนนลอยเคราะห์ ตอนค่ำวันหนึ่งนั่งดูข่าวโทรทัศน์ช่อง 8 รายงานข่าวว่าจังหวัดเชียงใหม่จะรับเป็นเจ้าภาพกีฬาแห่งชาติในปีถัดไปแต่ยังไม่มีคำขวัญประจำจังหวัดจึงเชิญชวนส่งคำขวัญเข้าร่วมประกวด ขณะนั้นว่างๆ อยู่จึงตัดสินใจแต่งคำขวัญเพื่อส่งเข้าประกวด โดยไม่ได้คิดว่าจะได้รับรางวัล จำได้ว่าคิดคำขวัญ 2 คำขวัญส่งเข้าประกวด คือ ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีงามสง่า บุปผชาติล้วนงามตา นามล้ำค่านครพิงค์ ส่วนอีกคำขวัญหนึ่งขึ้นต้นด้วย ดอยสุเทพเลื่องลือ จำข้อความอื่นไม่ได้

“แต่งคำขวัญแล้วก็ส่งทางไปรษณีย์ไปที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่แล้วไม่คิดว่าจะได้รางวัล วันหนึ่งนั่งชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ(จังหวัดสงขลาเป็นเจ้าภาพ) พิธีการเชิญตัวแทนจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพในปีต่อไปมารับธง มีผู้เชิญธง 4 ผืนและตามมาด้วยคนถือป้ายคำขวัญจังหวัด อ่านดูก็แปลกใจว่าเป็นคำขวัญที่เราเป็นคนแต่ง ขณะนั้นยังไม่คิดว่าคำขวัญที่เราแต่งได้รับการคัดเลือกแล้ว จนอีก 2 วันต่อมามีหนังสือส่งทางไปรษณีย์มาจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่าได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดคำขวัญและเชิญไปรับรางวัลที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 27 เมษายน

“ถึงวันดังกล่าวก็ไปรับ วันนั้นมีการประชุมหัวหน้าส่วนราชการที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัด ประธานคือรองผู้ว่าราชการจังหวัด ต่อมาเจ้าหน้าที่เชิญเข้าไปห้องประชุมและรับรางวัลจากรองผู้ว่าราชการจังหวัด รางวัลเป็นโล่และเงิน 20,000 บาท เรื่องเงินรางวัลจำได้ว่าเดิมทางจังหวัดตั้งรางวัลชนะเลิศไว้ 10,000 บาทต่อมาสมาคมธนาคารเพิ่มรางวัลให้อีก 10,000 บาท หลังจากรับแล้วมีการถ่ายภาพและโทรทัศน์ช่อง 8 มาสัมภาษณ์

“หลังจากได้รับรางวัลชนะเลิศแต่งคำขวัญแล้ว เพื่อนที่ทราบข่าวก็แสดงความยินดีรวมทั้งคนในตลาดพบหน้าก็แสดงความยินดีด้วย เงินรางวัล 20,000 บาทนำไปทำบุญทั้งหมด โดยไปทำบุญที่วัดทางจังหวัดลำพูนหลายวัดสร้างวิหาร ห้องน้ำ กำแพงวัด”

ด้านแนวความคิดในการแต่งคำขวัญจังหวัดเชียงใหม่จนได้รับรางวัลชนะเลิศนั้น นายสุพจน์ นิ่มรัตนพันธ์ให้ข้อมูลว่า“แนวความคิดแรกคือ สิ่งสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่คือดอยสุเทพ จึงนำดอยสุเทพมาขึ้นต้น เป็นที่มาของคำว่า ดอยสุเทพเป็นศรี คำว่า ศรี นั้นมีที่มาว่าก่อนหน้านั้นจังหวัดเชียงใหม่จัดทำราชรถสำหรับใช้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ขึ้นใหม่แทนราชรถเก่าที่ทรุดโทรมลง ติดตามข่าวทราบว่ามีการประกวดตั้งชื่อราชรถและเลือกชื่อว่า สะหลีเมืองเชียงใหม่ เวลาที่นำราชรถแห่พระพุทธสิหิงค์ในวันปีใหม่เมืองก็จะติดป้ายชื่อนี้ที่บริเวณล้อ สนใจคำว่าสะหลีเมื่อเปิดพจนานุกรมดูความหมายเดียวกับคำภาคกลางที่ว่า ศรี จึงนำมาใช้ต่อจากคำว่าดอยสุเทพ เป็นที่มาของคำว่า ดอยสุเทพเป็นศรี

“เอกลักษณ์ของเชียงใหม่อีกอย่างหนึ่งคือ มีประเพณีที่ใหญ่และงดงามเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง นักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวกันมาก จึงนำคำว่าประเพณีมาเป็นบรรทัดที่สอง คือ ประเพณีเป็นสง่า

“ส่วนคำว่าบุปผชาติล้วนงามตานั้น สมัยนั้นเชียงใหม่จัดงานไม้ดอกไม้ประดับมีชื่อเสียงแล้วแต่เรียกชื่อว่า งานบุปผชาติ รถที่ตกแต่งด้วยดอกไม้ก็เรียก รถบุปผชาติ คำว่าบุปผชาติจึงเป็นคนที่นิยมและสื่อความหมายที่สวยงาม จำได้ว่าเข้าเรียนวิทยาลัยเทคโนฯปีแรก พ.ศ.2519 มีโอกาสมาชมขบวนรถบุปผชาติที่สวนบวกหาด

“นอกจากนี้เชียงใหม่ขณะนั้นมีชื่อเสียงเรื่องดอกไม้มาก นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวดอยสุเทพในหน้าหนาวจะไปเที่ยวต่อที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ชมแปลงดอกกุหลาบที่สวยงาม มีหลายพันธ์หลายสีและหลายกลิ่น ใครได้ไปชมก็ตื่นตาตื่นใจมาก นอกจากนี้แหล่งท่องเที่ยวที่เรียกว่ารีสอร์ทก็ปลูกไม้ดอก เช่น แม่สาวาเลย์อำเภอแม่ริม ส่วนลัดดาแลนด์ขณะนั้นก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนนิยมไปเที่ยว ด้านในมีแปลงไม้ดอกที่สวยงาม ด้วยเหตุนี้จึงนำคำว่า บุปผชาติมาใช้ในบรรทัดที่ 3 คือ บุปผชาติล้วนงามตา

“บรรทัดที่ 4 คือ นามล้ำค่านครพิงค์ คำว่า นครพิงค์เป็นคำที่ได้ยินบ่อย มักใช้เรียกรวมว่านครพิงค์เชียงใหม่ จึงนำคำนี้มาปิดท้าย
“ใช้เวลาแต่ง 3 วัน เขียนลงในกระดาษและแต่งเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมยามที่ว่าง หากนึกยังไม่ออกก็ทำงานต่อ ว่างก็มาคิดเพิ่มจนพอใจแล้วจึงส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัล มีความภาคภูมิใจที่คำขวัญที่เราแต่งได้ใช้ประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ต่อเนื่องมา”

ปัจจุบันนายสุพจน์ นิ่มรัตนพันธ์ ทำหน้าที่ช่วยเหลือสังคมโดยเป็นไวยาวัจกรวัดผ้าขาวที่อยู่ใกล้บ้าน.

พล.ต.ต.อนุ เนินหาด เรียบเรียง

Like (0)
บทความก่อนหน้านี้SUN จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ตามแนวทาง ESG ช่วยลดวิกฤตโลกร้อน
บทความถัดไปสมาคมกอล์ฟ รีสอร์ทภาคเหนือ เปิดตัวโครงการ “Chiang Mai Golf Festival 2023”