หน้าแรก ข่าวเชียงใหม่ ททท. จัดพิธี “อัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์” ณ วัดเจดีย์เหลี่ยม แบบโบราณของชาวล้านนา

ททท. จัดพิธี “อัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์” ณ วัดเจดีย์เหลี่ยม แบบโบราณของชาวล้านนา

483
0

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดพิธี “อัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์” จาก 9 แหล่งน้ำสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม – 9 เมษายน 2566 เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลรับปีใหม่เมือง และร่วมเฉลิมฉลอง 727 ปีเมืองเชียงใหม่

พิธีอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นพิธีกรรมที่ที่สูญหายไปจากเมืองเชียงใหม่แล้วนับร้อยปี กลับมาให้ชาวเชียงใหม่ชนรุ่นหลัง ประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้รู้จักหวนรำลึกถึงประเพณีโบราณ ซึ่งในปีนี้ถูกจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดยน้ำที่จะนำมาประกอบพิธีทำ “น้ำทิพย์” จะมาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 9 แหล่งของจังหวัดเชียงใหม่ มาทำพิธี

โดยในวันนี้ (9 เม.ย. 2566) เวลา 14.09 น. ได้มีพิธีอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดเจดีย์เหลี่ยม เมืองเก่าเวียงกุมกาม อ.เมืองเชียงใหม่ โดยวัดเจดีย์เหลี่ยม หรือ วัดกู่คำ สร้างเมื่อ พ.ศ. 1831 โดยพญามังราย ซึ่งโปรดให้นำดินที่ขุดได้จากหนองต่างใกล้กับคุ้มของพระองค์ในเวียงกุมกามมาทำอิฐเพื่อก่อกู่คำ เจดีย์กู่คำมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม มีพระพุทธรูปยืนด้านละ 15 องค์ แต่ละด้านมีซุ้มพระชั้นละ 3 องค์ มี 5 ชั้น รวมทั้งหมด 60 องค์ เป็นการลอกเลียนแบบเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี เหตุที่ได้ชื่อว่ากู่คำ เพราะมีการประดับด้วยทองคำลงมาตั้งแต่ยอด

แต่เนื่องจากได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2451 โดยรองอำมาตย์เอก หลวงโยนะการพิจิตร (หม่องปันโหย่ อุปะโยคิน) คหบดีชาวพม่า ทำให้พระพุทธรูป ซุ้มพระ ลายพรรณพฤกษากลายเป็นรูปแบบศิลปะพม่าไป และมีการเพิ่มพระพุทธรูปนั่งอีก 4 องค์ รวมทั้งหมด 64 องค์ เพื่อให้เท่ากับอายุของรองอำมาตย์เอก หลวงโยนะการพิจิตร (หม่องปันโหย่ อุปะโยคิน) ในขณะนั้น

ซึ่งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2539 มีการค้นพบเศษชิ้นส่วนจารึกอักษรไทยสุโขทัย อายุพุทธศตวรรษ 19–20 บริเวณนอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกของเจดีย์กู่คำ ซึ่งรูปอักษรและรูปสระในจารึกมีลักษณะใกล้เคียงกับจารึกพ่อขุนรามคำแหงมาก เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงอารยธรรมการใช้อักษรภาษาของกลุ่มชนคนไทยแถบลุ่มแม่น้ำปิงในช่วงสมัยปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่

ในพิธีวันนี้ผู้ร่วมตักน้ำทิพย์ ณ วัดเจดีย์เหลี่ยม (แห่งที่ 7) ได้แก่ นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, คุณภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการภูมิภาค ภาคเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย,นายเลอยศ พุทธชิโนรถสกุล นายอำเภอสารภี,นางวิมลรัก ตนซื่อ นายกเทศมนตรีตำบลท่าวังตาล,นายอธิพงศ์ แสงศิลป์ นายทะเบียน สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศน์ สาขาภาคเหนือ,คุณบุญรัตน์ มหิตธิ ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่,คุณอานนท์ มะหะหมัด ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเจดีย์เหลี่ยม

หลังจากทำพิธี “อัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์” แล้วจะนำไปเข้า “พิธีจุมน้ำศักดิ์สิทธิ์” จะเป็นการเจริญพระพุทธมนต์ทั้ง 7 ที่ใช้ในพิธีสำคัญของเมือง โดยมีการทำก่อนเส้าเป็นรูปสิงห์ที่ปั้นขึ้นมาจากดิน 3 จอมปลวก 3 บวกควาย เพื่อตั้งหม้อน้ำทิพย์ จากนั้นจุดไฟจากดวงอาทิตย์ ซึ่งถือว่าเป็นไฟที่มีความบริสุทธิ์ในการจุด เทียน ธูป ปฐมแห่งพิธี และในช่วงค่ำจะมี “พิธีเจริญพระพุทธมนต์” และเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลต่อผู้ที่ได้รับน้ําทิพย์ไปบูชาต่อ โดยพิธีทั้ง 2 จัดขึ้นที่ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร อ.เมืองเชียงใหม่ และในวันจันทร์ที่ 10 เมษายน 2566 เวลา 09.09 น. จัดให้มีพิธีจุมน้ําศักดิ์สิทธิ์ และ เวลา 19.19 น. จัดให้มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์

ติดตามข่าวสารกิจกรรม หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงานเชียงใหม่ Line : @TATCHIANGMAI และ Page Face Book : tatchiangmai

Like (0)
บทความก่อนหน้านี้CSE ร่วมกับภาคเอกชน ส่งน้ำใจ ช่วยเจ้าหน้าที่อาสาดับไฟป่าเชียงใหม่
บทความถัดไป“พิธีจุมน้ําศักดิ์สิทธิ์” ททท. สืบสานประเพณีดั้งเดิมแบบโบราณของชาวล้านนา