วันที่ 20 มกราคม 2565 สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) โดยสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จัดทำโครงการผสมเทียม (AI-Artificial Insemination) สัตว์ป่า เพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญและหายาก โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล ในด้านการวิจัยตามยุทธศาสตร์ในการจัดการประชากรของสายพันธุ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อย่างยั่งยืนเพื่อการอนุรักษ์
นายสายสิทธิ์ เจตสิกทัต ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร เปิดเผยว่า เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเป็นหนึ่งในแหล่งที่ดูแล รวบรวมสายพันธุ์ของสัตว์ป่าที่สำคัญและหายากไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ของประเทศไทยและต่างประเทศ
ซึ่งในระดับนานาชาติได้มีการศึกษาวิจัย เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าเหล่านี้อยู่หลายหน่วยงาน เช่น WAZA (The world zoo and aquarium association) ได้กำหนดหน้าที่ของสมาชิกสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในระดับโลก ให้ตระหนักถึงการรับผิดชอบต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยให้การสนับสนุนความรู้ด้านการวิจัยเพื่อการอนุรักษ์เชิงบูรณาการอย่างยั่งยืน ตามรายชื่อในบัญชีแดงของ IUCN (IUCN Red list) หรือ SEAZA (South East Asian Zoo Association) โดยมีเป้าหมายในการจัดการประชากรของสายพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ของภูมิภาคในสวนสัตว์อย่างยั่งยืนเพื่อการอนุรักษ์
ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนสัตว์ป่าหลายชนิดที่มีการลดลงอย่างต่อเนื่องในธรรมชาติ เช่น เสือปลา กวางผา เลียงผา เสือดำ/ เสือดาว หมีหมา หมีควาย กระทิง วัวแดง สุนัขจิ้งจอกสีทอง หมาไน ฯลฯ อันเนื่องมาจากมีการบุกรุกของมนุษย์ จึงทำให้จำนวนของสัตว์ป่าบางชนิดมีแนวโน้มที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศทั่วโลกก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน
ดังนั้นจึงได้มีการคิดค้นวิธีการที่จะช่วยอนุรักษ์พันธุ์ของสัตว์เหล่านี้ไว้ให้คงอยู่ต่อไป โดยใช้วิธีที่เรียกว่า “เทคโนโลยีช่วยสืบพันธุ์ในสัตว์ป่าหายาก” (Assisted reproductive technology for endangered species) ซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น การตรวจฮอร์โมน การตรวจ DNA การทำน้ำเชื้อแช่แข็ง เซลล์ต้นกำเนิดแช่แข็ง วิธีการเหนี่ยวนำการตกไข่ และการผสมเทียม
ทั้งนี้ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพเชียงใหม่ เลือกทำการวิจัยทางด้านการรีดน้ำเชื้อ การตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ การทำน้ำเชื้อแช่แข็ง และการผสมเทียม
ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นิยมใช้ทั่วโลก มีความปลอดภัยสูงต่อสัตว์ และสามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้คงอยู่ได้อย่างสมดุลในธรรมชาติ ซึ่งนำไปสู่การดำเนินโครงการผสมเทียม (AI-Artificial Insemination) สัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ ที่เป็นโครงการต่อเนื่องในการวิจัยและอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ป่าหายากของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ต่อไป
Like (0)