หน้าแรก ข่าวบันเทิง บทเพลงกำเมืองอมตะ “ลืมอ้ายแล้วกา” พ่อสุริยา ยศถาวร นักแต่งเพลงที่มากสามารถ

บทเพลงกำเมืองอมตะ “ลืมอ้ายแล้วกา” พ่อสุริยา ยศถาวร นักแต่งเพลงที่มากสามารถ

1272
0

หากกล่าวถึงเพลง “คำเมือง” ที่ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ เพลงหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากคือ เพลง “ลืมอ้ายแล้วกา” เพลง “สึ่งตึง” เป็นต้น ผู้แต่ง คือ นายสุริยา ยศถาวร ศิลปินนักร้อง นักแต่งเพลงชาวเมืองเชียงใหม่

เนื้อร้องและทำนองเพลงลืมอ้ายแก้วกาเป็นเพลงแนวสนุกสนานไม่จริงจัง กล่าวถึงสาวคนรักที่ชื่อจันทา(จั๋นตา)ซึ่งจากเนื้อเพลงเหมือนเป็นสามีภรรยากันแล้ว คือ อยู่ร่วมกันซักเสื้อผ้าให้ ผู้แต่งสรรหาสิ่งของที่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวันนำมาใส่ในเนื้อเพลง เช่น ขอนไม้(ที่เคยนั่งเคียง), เปี๊ยดซ้าโอ่งมีดเขียง เมี่ยงยา ข้องใส่ปลา ควาย เป็นต้น

เนื้อหาเป็นการตัดพ้อคนรักว่าลืมพี่แล้วหรือ แม้จะตำหนิฝ่ายหญิงว่าทำไมเป็นคนใจดำ แต่ผู้แต่งก็ไม่วายโทษตัวเองว่าเป็นเวรเป็นกรรมของตัวเอง ตอนท้ายผู้แต่งลดความรันทดลงสอดแทรกเรื่องตลกคือ วันหนึ่งด้วยความคิดถึงทำให้กินขนมชั้นแล้วติดคอเกือบทำให้ตายลง แต่ถึงกระนั้นตอนจบของเพลงก็ดูเศร้าไม่น้อย ที่ว่ายังคงเดินตามหาคนรักจนน้ำลายแห้งติดคออย่างอ่อนล้า คือ “เตียวเซาะหาอี่นาย จ๋นน้ำลายปอเป๋นตังเป๋นเหนียว”

เนื้อเพลงมีอยู่ว่า

“ลืมอ้ายแล้วกา ก่อนสัญญากั๋นว่าจะใด ลืมฮักตี้เกยฝากไว้ ลืมขอนไม้ตี้เกยนั่งเคียง ลืมเปี๊ยดลืมซ้า ลืมโอ่งฮ้าลืมมีดลืมเขียง มาตัดก้อมสินเปียง ลืมอมเมี้ยงลืมแม้ห่อยา
ลืมห้างก๊างเฟียงก่อนนั่งเคยเกยเลี่ยงหลีกหนี ยามอ้ายก๋ำมือสาวจี๋ เล่นอุ่มลี้สองคนจั๋นตา
ลืมควายแม่ว๊องลืมแม้ฆองตี๊เกยใส่ปล๋า มากึ๊ดสันใดจาจากบ้านนาบ่แลบ่เหลียว
ไปอยู่กับไผ๋ตี้ไหนตางใดกันเล่า กึ๊ดเติงหาเจ้าสุดโศกเศร้า อ้ายเฝ้าแลเหลียว จะเยี๊ยะจะใดบ่มีไผ๋ซักเสื้อซักเตี่ยว จำนักฮักเฮาแห้งเหี่ยว อยู่คนเดียวเป๋นดีใคร่ต๋าย
ลืมอ้ายแล้วกา น้องจั๋นตาไยว่าใจ๋ดำ จ้าดนี้เป๋นเวรเป๋นก๋ำ ต่วยมาซ้ำตั๋วอ้ายบ่วาย
กึ๊ดฮอดวันนั้นอ้ายลืนขนมจั๊นขำคอเกือบต๋าย เตียวเซาะอี่นาย จ๋นน้ำลายปอเป๋นตังเป๋นเหนียว
ลืมอ้ายแล้วกา น้องจั๋นตาไยว่าใจ๋ดำ จ๊าดนี้เป๋นเวรเป๋นก๋ำ ต่วยมาซ้ำตั๋วอ้ายบ่วาย กึ๊ดฮอดวันนั้นอ้ายลืนขนมจั๊นขำคอเกือบตาย เตียวเซาะหาอี่นาย จ๋นน้ำลายปอเป๋นตังเป๋นเหนียว”

ผู้แต่งคือ นายสุริยา ยศถาวร มีความสามารถด้านการร้องเพลงและแต่งเพลง วัยหนุ่มได้เข้าสู่วงการเพลงโดยเป็นนักร้องอยู่กับวงดนตรีซีเอ็ม. ต่อมาย้ายมาอยู่วงดนตรีศรีสมเพชร รับหน้าที่ร้องเพลงหลักของวงดนตรีและทำหน้าที่แต่งเพลงให้กับนักร้องและคณะตลกของวงดนตรีศรีสมเพชร เจ้าของวงคือ นายประสิทธิ์ ศรีสมเพชร

นายสุริยา ยศถาวร แม้ไม่มีความรู้ด้านโน้ตดนตรีแต่สามารถแต่งเพลงคำเมืองไว้ประมาณ ๑๐๐ เพลง เนื้อหามักเป็นแนวสั่งสอนและตักเตือนหญิงชาวเหนือไม่ให้หลงเล่ห์กลของคนจากภาคอื่น เพลงของนายสุริยา ยศถาวรมีนักร้องหลายคนนำไปร้องจนมีชื่อเสียงโดยเฉพาะ จรัล มโนเพชร เช่นเพลงลืมอ้ายแล้วกาและเพลงคนสึ่งตึง

นายสุริยา ยศถาวร ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๐ ขณะอายุ ๘๗ ปีด้วยโรคชรา ด้านครอบครัวแต่งงานกับนางสมศรี มีบุตรชาย ๔ คน คือ นายกฤษดา ยศถาวร, นายอนุชา ยศถาวร, นายวรพจน์ ยศถาวรและนายมรกต ยศถาวร

นายกฤษดา ยศถาวร บุตรชายคนหนึ่งของพ่อสุริยา ยศถาวร ปัจจุบันอายุ ๖๕ ปี(เกิดปี พ.ศ.๒๕๐๐) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของพ่อสุริยา ยศถาวรว่า

“พ่อผม(สุริยา ยศถาวร) เป็นคนบ้านระแกงเกิดที่หลังวัดพวกช้าง(ชุมชนด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของคูเมืองเชียงใหม่) เกิดปี พ.ศ.๒๔๗๓ เรียนจบชั้นมัธยม ๓ จากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย(รุ่นเสาหิน) มีนิสัยชอบร้องเพลงวัยหนุ่มจึงเป็นนักร้องให้กับวงดนตรีซีเอ็ม. คาดว่าประมาณ พ.ศ.๒๔๙๑ ต่อมาวงซีเอ็ม.เลิก พ่อและนักร้องนักดนตรีส่วนใหญ่ได้ย้ายมาอยู่กับวงดนตรีศรีสมเพชร เจ้าของคือนายประสิทธิ์ ศรีสมเพชร มีบ้านอยู่ใกล้ๆ บ้านพ่อผม ในบริเวณบ้านสร้างเป็นบ้านพักและที่ซ้อมดนตรีเรียกกันว่า ค่าย

“พ่อเล่าว่าเมื่อไปร้องเพลงจะได้ค่าตอบแทนครั้งละ ๒๐ บาท ต่อมาขึ้นเป็น ๔๐ บาท ๖๐ บาทและ ๘๐ บาท พ่อจะได้มากกว่าคนอื่นๆ เพราะเป็นนักร้องนำ นักร้องหลักของวง

“หน้าฝนที่ไม่มีการแสดง พ่อจะมีอาชีพตัดตั้งระบบไฟฟ้าโดยศึกษาด้วยตัวเอง ทำงานเป็นลูกจ้างร้านสุจริตพานิชที่ถนนช้างม่อยใกล้ตลาดวโรรส สมัยนั้นเริ่มมีไฟฟ้าเข้ามาใหม่ๆ บ้านที่มาสั่งซื้อหลอดไฟและติดตั้งระบบไฟฟ้าพ่อผมและทีมงานจะไปทำหน้าที่ติดตั้งให้ หาเงินเลี้ยงครอบครัว

“ผมเกิดปี พ.ศ.๒๕๐๐ จำความได้ก็เห็นพ่อร้องเพลงอยู่กับวงดนตรีศรีสมเพชรแล้ว อีกทั้งมีอาชีพติดตั้งไฟฟ้า ส่วนแม่มีอาชีพทำกล้วยทอดขาย
“พ่อผมเสียงดี ร้องเพลงเสียงสูงได้มักร้องเพลงของคำรณ สัมบุณณานนท์ สมัยนั้นเรียกเพลง ลูกทุ่ง ชาวเมืองเชียงใหม่ให้สมญาว่า คำรณน้อย นอกจากนี้พ่อผมยังเป็นนักแต่งเพลงให้กับนักร้องในวงและให้คณะตลกด้วย เพลงที่ดังคือ เพลงบ่เกยและหยุบมือกำ พ่อให้เสี่ยปินหรือศิลปิน สิทธิปัญญาร้อง จนได้รับความนิยม เพลงหนึ่งที่พ่อต้องร้องเองเพราะคนอื่นร้องไม่ได้ คือ เพลงลืมอ้ายแล้วกา

“บางเพลงใช้ทำนองของเพลงอื่น เช่น เพลงสามตัวหัวใจจะวาย สามตัวหัวใจสลาย ใช้ทำนองเพลงสามหัวใจ เพลงที่พ่อแต่งมักมีเนื้อหาสอนคน ตำหนิหญิงชาวเหนือที่ปล่อยตัว
“ผมเคยนำเพลงของพ่อไปเสนอวงดนตรีดังๆ เพื่อต้องการขายเพลงให้นำไปร้อง สมัยนั้นอายุเพียง ๒๐ ปีแต่ไปรอพบกับสายัณห์ สัญญา ขณะนั้นนำวงดนตรีมาแสดงที่โรงหนังมหานครอยู่แถวตลาดธานินท์ แต่ไม่ได้พบและเคยจะไปเสนอยอดรัก สลักใจ แต่ก็ไม่ได้พบเช่นกัน
“พ่อผมเคยร้องเพลงที่ตัวเองแต่งไว้ ร้องอัดแผ่นเสียงในสมัยก่อนเช่นเพลงกลิ่นเหล้าสาบยา เพลงฟ้ามุ่ยหลงกรุง เพลงปื้นเก๊าบ่าตัน เพลงจะตายอ้ายตึงบ่ลืม ปัจจุบันยังหาฟังได้จากยูทูป”

ด้านการขายลิขสิทธิ์เพลงของพ่อ นายกฤษดา ยศถาวรเล่าว่า

“ปี พ.ศ.๒๕๒๐ จรัล มโนเพชร มาซื้อเพลงของพ่อผมไปร้อง คือ เพลงลืมอ้ายแก้วกาและเพลงคนสึ่งตึงทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป
“ประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๖-๒๕๓๗ เฮียซาว เป็นเจ้าของท่าแพบรรณาคาร เป็นคนทำเทปเพลงขาย มาซื้อลิขสิทธิ์เพลงจากพ่อผมและให้นักร้องชื่อ ออด ไพศาล ร้อง ออด ไพศาลเดิมมีอาชีพขับรถสามล้อเครื่องอยู่ที่อำเภอฝาง เป็นนักร้องเสียงดีคือเพลง ลืมอ้ายแล้วกา, หยุบมือกำ, เอื้องลืมถิ่น, ฟ้ามุ่ยเหลิงกรุง เป็นต้น เทปขายดีมาก
“มีอีกหลายเพลงที่พ่อแต่งไว้และไม่ได้นำไปร้อง พ่อผมแต่งเพลงคำเมืองไว้เกือบ ๑๐๐ เพลง ส่วนหนึ่งแต่งมอบให้นักร้องวงดนตรีศรีสมเพชร เพลงที่พ่อแต่งและนำมาเขียนลงสมุดบันทึกประจำตัวไว้มี ๓๒ เพลง ปัจจุบันผมยังเก็บสมุดบันทึกเนื้อเพลงที่เป็นลายมือของพ่อผมไว้อยู่ พ่อเคยเล่าว่าเพลงแรกๆ ที่แต่งชื่อ เพลงเสภาเณรจำเป็นและเพลงยอดมิ่งเมียขวัญ สมัยนั้นอยู่ในวัยหนุ่มมีภรรยาชื่อ แม่ดี ไม่มีลูกด้วยกันและเสียชีวิตลงขณะกำลังตั้งท้องทำให้พ่อเสียใจมาก บวชเณรหน้าศพและแต่งเพลงเสภาเณรจำเป็นและเพลงยอดมุ่งเมียขวัญ
“นักแต่งเพลงคำเมืองรุ่นหลังๆ คือ วีรพล คำมงคล เป็นคนอำเภอสารภี แต่งเพลงเย็นฤดี เพลงน้องแมว เพลงสนธยาที่รักให้มนูญน้อย ศรีสมเพชร ร้อง เป็นที่นิยมพอสมควร”

ปัจจุบันนายกฤษดา ยศถาวร นำเพลงของพ่อสุริยา ยศถาวรมาร้องเผยแพร่ในยูทูป(กฤษดา ยศถาวร)เพื่อรักษาเพลงของพ่อสุริยา ยศถาวรไม่ให้สูญหายไป นอกจากนี้ยังมีจิตสาธารณะยินดีให้นักร้องที่สนใจและต้องการเพลงของพ่อสุริยา ยศถาวร สามารถมาติดต่อขออนุญาตนำไปร้องได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
เนื้อหาของเพลงที่พ่อสุริยา ยศถาวร แต่งไว้แต่ละเพลงสะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนล้านนาที่แตกต่างจากท้องถิ่นภาคอื่นน่าสนใจศึกษา แม้ในปัจจุบันก็ยังหานักแต่งเพลงคำเมืองที่มีความสามารถเสมอได้ยาก

พ.ต.อ.อนุ เนินหาด เรียบเรียง

Like (0)
บทความก่อนหน้านี้อบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรปฏิบัติการแพทย์ขั้นพื้นฐานและช่วยปฏิบัติการแพทย์ขั้นสูง
บทความถัดไป9 ธันวาคม วันพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ณ วัดป่าดาราภิรมย์ อ.แม่ริม