หน้าแรก ข่าวการศึกษา ม.แม่โจ้ ตัวแทนประเทศไทย คว้า 2 รางวัลใหญ่ Asean Energy Awards 2021

ม.แม่โจ้ ตัวแทนประเทศไทย คว้า 2 รางวัลใหญ่ Asean Energy Awards 2021

483
0

วันพุธที่ 8 กันยายน 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดี เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้ารับรางวัล Asean Energy Awards 2021 ซึ่งเป็นโครงการของวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าประกวดในงาน Asean Energy Awards 2021 โดยมีพิธีมอบรางวัลผ่านระบบออนไลน์ (ลิงค์สัญญาณจากประเทศบรูไน)

ทั้งนี้ มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี รองอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิกราน หอมดวง คณบดีวิทยาลัยพลังงานทดแทน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยิ่งรักษ์ อรรถเวชกุล รองคณบดีวิทยาลัยพลังงานทดแทน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติกร สาสุจิตต์ ผู้ช่วยคณบดี และ รองศาสตราจารย์ ดร.นัฐพร ไชยญาติ ผู้ประสานงานจัดส่งโครงการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ร่วมแสดงความยินดี ณ ห้องอินทนิล ชั้น 2 สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้

งาน Asean Energy Awards 2021 จัดขึ้นโดย ASEAN Centre for Energy (ACE) ซึ่งมีประเทศในกลุ่มอาเซียน รวม 10 ประเทศได้แก่ ไทย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และบรูไน ส่งโครงการเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้คัดเลือกโครงการด้านพลังงานทดแทนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ 2 โครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการ : การผลิตไฟฟ้าร่วมกับการทำความเย็นและความร้อนแบบขั้นบันไดจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ

ผลงานของ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทนและเกษตรอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มี รองศาสตราจารย์ ดร.นัฐพร ไชยญาติ เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ และ โครงการโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาแบบเชื่อมต่อสายส่งเพื่อลดพลังงานไฟฟ้าในหน่วยงาน ของวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี ผู้ดำเนินโครงการฯ

ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ที่ประกอบไปด้วยโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม รวมไปถึงองค์กรที่มีบทบาทส่งเสริมสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานและพัฒนาพลังงานทดแทน ส่งเข้าประกวดในนามตัวแทนประเทศไทย ประเภทกลุ่มพลังงานทดแทน โดยทั้ง 2 โครงการของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับรางวัล ดังนี้

• โครงการ : การผลิตไฟฟ้าร่วมกับการทำความเย็นและความร้อนแบบขั้นบันไดจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ (โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นัฐพร ไชยญาติ)

  • รับรางวัลชนะเลิศ ด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน (Innovation on Alternative Energy) โดยวิธีการคัดเลือก (Special Submission Category) – The Winner of the Special Submission Category of the ASEAN Renewable Energy Project Awards 2021
    โครงการนี้ได้ศึกษานำความร้อนทิ้งจากน้ำพุร้อนของกิจการน้ำพุร้อนสันกำแพงฯ มาผลิตไฟฟ้าร่วมกับการทำความเย็นและความร้อนจากเทคโนโลยีความร้อนใต้พิภพแบบขั้นบันได เพื่อบูรณาการกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวร่วมกับการใช้ประโยชน์ด้านวิศวกรรมพลังงานอย่างมีประสิทธิผลมากที่สุด โดยออกแบบและสร้างระบบผลิตไฟฟ้าวัฏจักรแรงคินสารอินทรีย์ (Organic Rankine Cycle, ORC) ชั้นเดียวขนาด 10 kWe ระบบทำความเย็นแบบดูดกลืน (Absorption chiller) ชั้นเดียวขนาด 10 kW ที่สามารถผลิตน้ำเย็นได้ในช่วง 7-20 °C และห้องอบแห้งแบบรวมศูนย์ (Centralized drying room) ขนาด 20 kW ที่สามารถทำอากาศร้อนได้สูงสุดประมาณ 85 °C โดยมีการทำงานร่วมกันแบบขั้นบันได นอกจากนี้การทำงานของระบบร่วมทั้งหมดมีการควบคุมและแสดงผลผ่านอินเตอร์เน็ตแบบเรียลไทม์ผ่านเว็บไซต์ “www.tdetlab.com” ซึ่งผลทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า ค่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานความร้อนใต้พิภพมีค่า 2.93 บาท/kWh สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าของกิจการน้ำพุร้อนสันกำแพงฯ ได้ประมาณ 114,321 บาท/ปี ระบบทำความเย็นแบบดูดกลืนสามารถผลิตความเย็นเพื่อลดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 42,150 บาท/ปี ห้องอบแห้งแบบรวมศูนย์จะมีรายได้จากการอบแห้งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 350,000 บาท/ปี ทำให้ระบบร่วมมีระยะเวลาการคืนทุนประมาณ 6.14 ปี และจะได้ทำการส่งมอบต้นแบบ “ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานความร้อนใต้พิภพ” ให้แก่เจ้าของพื้นที่ ซึ่งก็คือ กิจการน้ำพุร้อนสันกำแพงฯ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

• โครงการ : โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาแบบเชื่อมต่อสายส่งเพื่อลดพลังงานไฟฟ้าในหน่วยงาน (โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี)

  • รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Off-Grid) – The 1st Runner Up of the Power under Off Grid Category of the ASEAN Renewable Energy Project Awards 2021 (ซึ่งในประเภทนี้ไม่มีผู้ชนะเลิศ ในระดับอาเซียน)

โครงการนี้ได้ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาเพื่อใช้ในอาคารเรียน สำนักงานและอาคารปฏิบัติการบนพื้นที่รวม 2,929 ตร.ม. ใช้เทคโนโลยีแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบโพลีคริสตัลไลน์ซิลิคอน (Polycrystalline Silicon) ขนาดติดตั้งรวม 300 kWp ผลิตพลังงานไฟฟ้าสำหรับภาระโหลดทางด้านไฟฟ้าของอาคารเรียนและปฏิบัติการและหากมีภาะโหลดมากเกินกำลังการผลิตระบบจะทำการดึงพลังงานไฟฟ้าจากกริดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมาใช้งานร่วมกันผ่านการควบคุมด้วยระบบควบคุมการทำงานของโรงไฟฟ้า โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ร้อยละ 4.2 ของค่าใช้จ่ายในปี 2563 หรือประหยัดได้ 1.3-1.5 ล้านบาทต่อปี

ในส่วนอาคารวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พบว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นี้สามารถทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ร้อยละ 75 ของค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าของวิทยาลัยพลังงานทดแทน ทั้งนี้ระบบมีอายุการใช้งานอย่างต่ำ 25 ปี โดยสรุปคือ สามารถ ผลิตไฟฟ้าเฉลี่ย 300,000-350,000 kWh ต่อปี หรือประหยัดค่าไฟให้แก่วิทยาลัย 1.47 ล้านบาทต่อปี เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 340 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 18.5 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) 9.75% ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 12 ปี 7 เดือน

รางวัลดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า นอกเหนือจากภารกิจด้านการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ยังมีโครงการสำคัญที่ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระยะ 15 ปี (พ.ศ.2555 – 2569) ที่พัฒนา “การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต” ประกอบไปด้วยมหาวิทยาลัยเกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัยสีเขียว มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ ได้อย่างเป็นรูปธรรม และยังสามารถช่วยเหลือดูแลสังคมให้วงกว้างอีกทางหนึ่งด้วย

ฝ่ายสื่อสารองค์กร ม.แม่โจ้ // รายงาน

Like (0)
บทความก่อนหน้านี้SUN สุดยอด คว้ารางวัลแบรนด์ไทยยอดเยี่ยม PM Award 2021
บทความถัดไปบริษัท ซันสวีท สืบสานประเพณี จัดพิธีบวงสรวงพระพิรุณ 9 เดือน 9