หน้าแรก ข่าวจังหวัดพะเยา เปิด “อุทยานการเรียนรู้พะเยา” (TK Park Phayao) เมืองแห่งการเรียนรู้

เปิด “อุทยานการเรียนรู้พะเยา” (TK Park Phayao) เมืองแห่งการเรียนรู้

469
0

Phayao Learning City Fest & Forum3 เปิด “อุทยานการเรียนรู้พะเยา” (TK Park Phayao)

วันพุธที่ 29 มีนาคม 2566 โครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ เข้าสู่ UNESCO ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา จัดกิจกรรม Phayao Learning City Fest & Forum3 และจัดพิธีเปิดอุทยานการเรียนรู้พะเยา (TK ParkPhayao) โดยผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยาร่วมพิธีเปิดงาน ประกอบด้วย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.เสมอ ถาน้อย พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันธิวัฒน์ พิทักษ์พลรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวิทย์ ปัญญาวงศ์ ซึ่งจัดขึ้น ณ อุทยานการเรียนรู้พะเยา (TK Park Phayao) จังหวัดพะเยา

กิจกรรม Phayao Learning City Fest & Forum3 รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา ศาสตราจารย์ ดร.เสมอ ถาน้อย กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยพะเยาโครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ เข้าสู่ UNESCO ครั้งนี้ว่า ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) และพัฒนาคนให้มีทักษะเหมาะสมกับศตวรรษที่ 21 โดยมหาวิทยาลัยพะเยาเป็นหน่วยงานกลางที่เชื่อมโยงนโยบายระดับชาติและนานาชาติกับการดำเนินงานในระดับท้องถิ่น ตามปณิธานของมหาวิทยาลัย “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน”

และด้วยวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยสร้างปัญญา เพื่อนวัตกรรมชุมชน สู่สากล” มหาวิทยาลัยพะเยาได้จัดการเรียนการสอน รวมทั้งพัฒนาและสร้างวิถีแห่งการเรียนรู้ร่วมกับท้องถิ่นในอำเภอต่าง ๆ ผ่านโครงการ “1 คณะ 1 สัญลักษณ์ความสำเร็จ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยพะเยากับเทศบาลเมืองพะเยา และโครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ที่มุ่งพัฒนากลุ่มแรงงานนอกระบบทุกเพศทุกวัย ชุมชนในเทศบาลเมืองพะเยา กลุ่มผู้สูงอายุ สภาเด็ก รวมถึงเด็กพิเศษและผู้ปกครอง เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ UNESCO คือ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ ได้จัดกิจกรรมในหลักสูตร “UP to Up skill/ Re skill/ New skill” ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยผู้เรียนสามารถเก็บจำนวนชั่วโมงเป็นหน่วยกิต หรือ credit bank ของมหาวิทยาลัยพะเยาได้ ทำให้เกิดการยกระดับความรู้ ทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ และสร้างความภาคภูมิใจแก่ผู้เรียน การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนผ่านการเรียนรู้แบบ Cross-learning community คือการนำคนต่างช่วงวัย ต่างชุมชนมาเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ท้องถิ่น วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ซึ่งกิจกรรมสร้างการเรียนรู้เหล่านี้สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ผู้เรียน และยังนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อีกด้วย

ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม Phayao Learning City Fest & Forum3 และพิธีเปิดอุทยานการเรียนรู้พะเยา (TK ParkPhayao) กล่าวว่า ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จึงเห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจในการพัฒนาขับเคลื่อนจังหวัดพะเยา อันก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน หลายหน่วยงานมีการจัดการเรียนรู้ให้แก่ประชาชน ทั้งการสร้างพื้นที่สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย กิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพและรายได้ นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำภายใต้แนวคิด ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และยังสร้างความภาคภูมิใจแก่คนในพื้นที่ ทุกส่วนงาน หน่วยงาน ชุมชน และประชาชนทุกคนล้วนเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้จังหวัดพะเยาได้เป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของUNESCO

จังหวัดพะเยามีนโนบายส่งเสริม สนับสนุนให้ประชากรทุกคนเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างทั่วถึง โดยการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยที่สอดคล้องกับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ผนวกกับการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้จัดเตรียมพื้นที่ส่วนกลางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ทำให้เยาวชนได้มีพื้นที่แสดงความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ประชาชนได้ใช้พื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนพะเยาได้ นอกจากนั้น เรายังสามารถระดมทุนสนับสนุนการขับเคลื่อนเมืองจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมีเทศบาลเมืองพะเยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา และมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นกลไกขับเคลื่อนร่วมกัน
จากนั้น เป็นพิธีเปิด “อุทยานการเรียนรู้พะเยา” (TK ParkPhayao) โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา เทศบาลเมืองพะเยา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ประธานกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT และบริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด

อุทยานการเรียนรู้พะเยา TK Park Phayao “ห้องสมุดมีชีวิตแห่งแรกในจังหวัดพะเยา” ริมกว๊านพะเยา เป็นแหล่งการเรียนรู้นอกห้องเรียน มีหนังสือและสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย สามารถ สมัครสมาชิกฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ให้บริการยืมหนังสือ ศูนย์บริการคอมพิวเตอร์ และ INTERNET เปิดให้บริการ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 19.00 น. วันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดบริการวันจันทร์) ติดต่อสอบถาม โทร.054-072252 Facebook : อุทยานการเรียนรู้พะเยา โดยมีพื้นที่ให้บริการ คือ
จุดบริการ ยืม-คืน เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ เป็นจุดให้ บริการ ยืม – คืน หนังสือ การสมัคร ข้อมูลต่างๆ สมาชิค และบริการติดต่อสอบถาม ภายในอุทยาน
KIDS ZONE พื้นที่สำหรับเด็กและเยาวชน แหล่ง รวมหนังสือ สือ และของเล่นเสริม สร้างพัฒนาการหลากหลายที่แบ่ง ตามช่วงวัย ตั้งแต่ 0 – 12 ปี
PHAYAO LEARNING CITY ROOM PHAYAO LEARNING CITY พื้นทีแสดงผลงานของชุมุชน การอบรมเชิงปฏิบัติการ และพื้นที่ การมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาเมืองพะเยา เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้
LIVING LIBRARY ห้องสมุดมีชีวิตเป็นพื้นที่ สื่อที่ทันสมัยหลากหลาย ให้บริการด้านหนังสือและ รวมถึงพื้นที่นั่งอ่านที่ สะดวก สบาย
มุมไอที แหล่งสืบค้นข้อมูลออนไลน์ บริการสันทนาการ TK Park
CO-WORKING SPACE พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ติวหนังสือ ทำงานกลุ่ม การประชุมและเสวนากลุ่มย่อย


TK CAFE จุดให้บริการ เครื่องดื่ม พื้นที่พักผ่อน สำหรับ และอาหารว่าง รวมถึง ทุกช่วงวัย
การจัดกิจกรรม Phayao Learning City Fest & Forum3 ในครั้งนี้ มีรายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการ พะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ Learning City ปี3 รวมถึงการจัดเสวนา “ก้าวต่อไปของพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้” ภายในงานสามารถ เดินตลาดสินค้าชุมชน ชมบูธผลิตภัณฑ์จากโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองพะเยา และกิจกรรม การแข่งขันหุ่นยนต์อัจฉริยะ (เทศบาลเมืองพะเยา) ภายใน ตึกอุทยานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ อบจ. พะเยา

อนันต์ ข่าวพะเยา

Like (0)
บทความก่อนหน้านี้เทศบาลนครเชียงใหม่ จัดเต็ม “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่” 5 วัน 14 กิจกรรม ห้ามพลาด!!
บทความถัดไปสทนช. เดินหน้า..รวบรวมข้อคิดเห็น ใครได้ ใครเสีย..ร่างผังน้ำรอบ 2 พื้นที่ลุ่มน้ำปิง