หน้าแรก ข่าวการศึกษา ทีมวิจัย ม.นอร์ท-เชียงใหม่ ยกระดับคุณภาพสินค้าจากผ้าใยกัญชงให้ไปสู่ตลาดโลก

ทีมวิจัย ม.นอร์ท-เชียงใหม่ ยกระดับคุณภาพสินค้าจากผ้าใยกัญชงให้ไปสู่ตลาดโลก

175
0

ผู้ช่วยศาสตราจารย์บงกช สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ และ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ดิฉันในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ พร้อมด้วย ผศ.สุชาดา เมฆพัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย และ อาจารย์นีรนาท ตาจุมปา คณะสังคมศาสตร์และศิลปศาสตร์ได้เข้าพบ นายภควัต ขันธหิรัญ นายอำเภอแม่ริม /นายบัญญัติ กันทะวงศ์ พัฒนาการอำเภอแม่ริม และ นางสาวกรรณิภา ดวงสว่าง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ เพื่อปรึกษาหารือ และขอความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ผ้าใยกัญชงในพื้นที่อำเภอแม่ริม ณ ที่ว่าการอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ต่อจากนั้นได้เดินทางไปประสานงาน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยทราย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อเข้าพบกับ นางศิริลักษณ์ ทรายเหนือ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยทราย และ นายวรรณเดช คำภูษา นักพัฒนาชุมชน ตำบลห้วยทราย เพื่อร่วมวางแผนการจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ผ้าใยกัญชง ในนามกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทั้ง 3 กลุ่มของอำเภอแม่ริม ในเรื่อง Storytelling (การเล่าเรื่องราวเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า )และ Creative Design (การออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ) ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพสินค้าจากผ้าใยกัญชงให้ไปสู่ตลาดโลก ในยุคการตลาดแบบดิจิทัล (Digital Marketing)

ซึ่งก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยจาก มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ได้เข้าพบนายเจริญ สีวาโย พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่และ นางลัดดา พรหมเมือง ผู้อำนวยการส่งเสริมการพัฒนาชุมชน เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้พบ ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นครั้งแรก พร้อมสินค้าแนวใหม่ซึ่งได้รับความนิยม คือ นางรัชนีย์ ทองคำ และ นางนวลศรี พร้อมใจ

ผศ.บงกช กล่าวว่า กระแสกัญชงมาแรงมากขึ้น หลังจากรัฐบาลประกาศปลดล็อก เปิดโอกาสให้สามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะ “กัญชง” (Hemp) เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564
ที่สำคัญคือ ความมหัศจรรย์ของเส้นใยกัญชง ที่เหนียวนุ่ม แข็งแรงกว่าผ้าฝ้าย ให้ความอบอุ่นกว่าลินิน ดูดซับความชื้นได้ดีกว่าไนล่อน ป้องกันรังสียูวีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แถมเนื้อผ้ายังมีเสน่ห์ สวยงามแปลกตา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่วนความนิยมในต่างประเทศเช่น คนญี่ปุ่น เชื่อว่าใยกัญชงเป็นเส้นใยมงคล จึงนิยมนำมาตัดกิโมโน (คิดเป็นเงินไทย ราคาหลักแสนบาท) เพราะเป็นผ้าที่มีความทนทาน เก็บได้นานเป็นร้อยปี ปัจจุบันผ้าใยกัญชง ถูกนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกเช่น Hermes Prada Converse Vans เป็นต้น


ในประเทศไทย พบว่า ชาวม้งมีความเชื่อว่า เมล็ดกัญชงหรือเฮมพ์ (Hemp) ที่ปลูกนั้น เป็นเมล็ดที่ได้รับการประทานมาจากพระเจ้า และยังเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานความอุดมสมบูรณ์มาให้มนุษย์อีกด้วย นอกจากจะมีการปลูกเฮมพ์เพื่อนำเส้นใยมาทอผ้า เพื่อใช้นุ่งห่มในการดำรงชีวิตแล้ว ยังมีการใช้เฮมพ์ในการประกอบพิธีกรรม และความเชื่อต่าง ๆ ด้วย เช่น การสานเส้นใยเฮมพ์ให้เป็นรองเท้า เพื่อใช้สำหรับคนตายใส่เดินทางไปสวรรค์ การต่อเส้นใยเฮมพ์ให้มีความยาว เพื่อใช้เป็นสายสิญจน์ หรือแม้กระทั่งการนำเฮมพ์มาใช้ในพิธีที่สำคัญ คือ “พิธีอัวเน้ง” หรือ “พิธีเข้าทรง” ซึ่งเป็นงานประเพณีโบราณของชาวม้ง


วัฒนธรรมของผู้หญิง ซึ่งเป็นภรรยา จะมีหน้าที่สำคัญ คือ การทอผ้า เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีเสื้อผ้าขาย ทำให้ต้องมีการทอผ้า เพื่อใช้ในครัวเรือนกันเอง โดยการทอผ้านั้นจะต้องทอให้ทันงานวันขึ้นปีใหม่ เพื่อที่จะได้สวมใส่ผ้าใหม่ ต้อนรับวันปีใหม่ด้วย ทุกบ้านจึงเริ่มปลูกเฮมพ์ตั้งแต่เดือนเมษายน และจะเริ่มทอผ้าตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนกันยายน จากนั้นจึงนำผ้าทอมาย้อมคราม และเขียนลายด้วยขี้ผึ้ง และนำมาปักเพิ่มความสวยงาม ดังนั้นหากผู้หญิงบ้านไหนไม่ขยัน ก็จะทำให้ทอผ้าเสร็จไม่ทันใช้ใส่ในวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นคนขี้เกียจ ดังนั้นผู้หญิงม้ง จึงต้องทอผ้าเป็น หากทอผ้าไม่เป็น อาจหาสามีไม่ได้ เพราะมีความเชื่อกันว่า ผู้หญิงคนนั้นทำอะไรไม่เป็น ซึ่งความเชื่อดังกล่าวนี้ยังคงสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อหน่วยงานภาครัฐ หลายแห่ง ต่างมีนโยบายในการช่วยเหลือชาวบ้าน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างรายได้ให้กับชุมชน
ทางคณะผู้วิจัย จึงนำภูมิปัญญาดังกล่าว มาต่อยอดสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ จากงานวิจัยเชิงบูรณาการร่วมกันระหว่างศาสตร์ต่างๆ และสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ของ 3 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ / มหาวิทยาลัยแม่โจ้ /มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก เครือข่ายวิจัยภูมิภาค สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 ทั้งนี้ได้ร่วมมือกันเป็นพันธมิตรทางวิชาการในการลงพื้นที่วิจัย บ้านแม่สาใหม่ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาวม่าง เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564

ส่วนทีมวิจัยมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับอีก 2 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าและโครเชต์บ้านห้วยทราย และ กลุ่มผลิตภัณฑ์ใยกัญชงทรายทอง ในพื้นที่ตำบลห้วยทราย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ผศ.บงกช กล่าวทิ้งท้ายว่า “ ต้องขอบพระคุณหน่วยงานภาครัฐ ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล (ท้องที่-ท้องถิ่น) รวมถึง ภาคประชาสังคม ตลอดจน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และ ผู้ประกอบการ ที่ให้ความร่วมมืออย่างดี เพราะการทำงานครั้งนี้ จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือ ในการสร้างเครือข่าย พันธมิตรจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ความคาดหวังคือ ทำอย่างไร ผ้าใยกัญชงไทย จากจังหวัดเชียงใหม่ จึงจะไปสู่ตลาดโลก”

Like (0)
บทความก่อนหน้านี้ชาวบ้านแม่สามแลบ แม่ฮ่องสอนโวยทหารเมียนมา ยิงเรือขนสินค้าของไทย 2 รอบ
บทความถัดไปคลินิกรักษาสัตว์ คณะสัตวแพทย์ฯ ม.แม่โจ้ ให้บริการตรวจสุขภาพฉีดวัคซีน ฟรี