หน้าแรก ข่าวแม่ฮ่องสอน วิถีชุมชน คนแม่ฮ่องสอน จองพาราสีรุ้ง เอกลักษณ์ของชาวไทใหญ่ทาวน์บ้านผาบ่อง

วิถีชุมชน คนแม่ฮ่องสอน จองพาราสีรุ้ง เอกลักษณ์ของชาวไทใหญ่ทาวน์บ้านผาบ่อง

245
0

ใกล้เทศกาลออกพรรษาเข้ามา ชาวไทยในจังหวัดแม่ฮ่องสอนหลายหมู่บ้านเริ่มร่วมกันจัดเตรียมตกแต่งจองพาราหรือปราสาทรับเสด็จองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะเสด็จจากสวรรค์ลงมาโปรดยังโลกมนุษย์ในช่วงเทศกาลวันออกพรรษา ตามความเชื่อของชาวไทยใหญ่ถ้าหมู่บ้านใดได้ทำจองพาราที่สวยงามรับเสด็จพระพุทธเจ้าแล้วจะอยู่เย็นเป็นสุข และประกอบอาชีพได้ผลผลิตที่งอกงาม  

                ซึ่งที่ชุมชนไทใหญ่บ้านผาบ่อง ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน นายอมร ศรีตระกูล กำนันตำบลผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน นำชาวบ้านร่วมอนุรักษ์ สืบสานงานประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด หรืองานบุญออกพรรษาโดยการทำจองพารา หรือปราสาทรับเสด็จพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวไทยใหญ่ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน สืบต่อกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้  เนื่องจากประเพณี “ปอยเหลินสิบเอ็ด” หรือประเพณีออกพรรษา เป็นประเพณีที่มีความสำคัญต่อชาวไทใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอย่างมาก

                 นายกระแส นิยมรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำจองพารา ได้กล่าวว่า จองพาราของชุมชนไทใหญ่บ้านผาบ่อง มีจุดเด่นที่แตกต่างจากจองพาราที่อื่น ๆ คือ“เป็นจองพาราสีรุ้ง …ซึ่งสวยงามด้วยความคิดสร้างสรรค์ ที่ควบคู่ไปกับการรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชาวไทใหญ่ สำหรับขั้นตอนการทำจองพาราของชุมชนไทใหญ่บ้านผาบ่องนั้น ปัจจุบันได้เปลี่ยนจากโครงไม้ไผ่มาเป็นโครงเหล็ก เพื่อความคงทนและใช้ได้นาน จากเมื่อก่อนใช้กระดาษสา ได้ประยุกต์ใช้กระดาษสะท้อนแสง นำกระดาษมาต้องลาย หรือการฉลุ ด้วยลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนไทใหญ่บ้านผาบ่อง  แล้วนำมาประกอบเข้ากับโครงของจองพาราซึ่งประกอบด้วย 3 ชั้น คือ ชั้นล่างสุด คือปัทมะ ชั้นที่ 2 คือห้องประทับของพระพุทธเจ้า คือ ทุติยะ และชั้นยอด คือ ตติยะ

                โดยจุดเด่นของการทำจองพาราสีรุ้ง เพื่อต้องการดึงดูดใจให้เด็กและเยาวชน เข้ามาศึกษาเรียนรู้ ด้วยสีสันที่งดงามของจองพารา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภูมิปัญญาโบราณของชาวไทใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับการอนุรักษ์และสืบสานไว้ให้คงอยู่คู่กับชุมชนต่อไป

            สำหรับชาวไทยใหญ่ใน จ.แม่ฮ่องสอน งานประเพณีแห่จองพารา ถือเป็นงานสำคัญอีกงานหนึ่ง ที่ทุกคนเลื่อมใสและศรัทธา ในความเชื่อทางพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า และร่วมกันจรรโลงประเพณีดังกล่าวให้สืบทอดตลอดไปจนกลายเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวในปัจจุบัน   “จองพารา” เป็นภาษาไทยใหญ่แปลว่า “ปราสาทพระ” การบูชาจองพาราคือการสร้างปราสาทเพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้า ที่เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในเทศกาลวันออกพรรษา โดยชาวไทยใหญ่เชื่อว่า บ้านใดได้จัดทำจองพาราบูชาพระพุทธเจ้า เชื่อว่า ครอบครัวจะมีความสุข และหมู่บ้านใดได้ช่วยกันจัดทำจองพาราบูชาไว้ที่วัดประจำหมู่บ้าน

ในช่วงเทศกาลออกพรรษา มีความเชื่อว่า ทุกคนในหมู่บ้านจะมีความสุขกันทั่วหน้า และส่งผลไปถึงการประกอบอาชีพของคนในหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ ให้ได้ผลผลิตที่ดีอีกด้วย

โชติ  นรามณฑลแม่ฮ่องสอน

Like (0)
บทความก่อนหน้านี้ดีเดย์ SUN จับมือ ListenField ยกระดับเทคโนโลยีการเกษตรเต็มรูปแบบ
บทความถัดไปข้อเสนอจากสมัชชาเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2564 แบบเด็กคิด ผู้ใหญ่หนุน