หน้าแรก ข่าวแม่ฮ่องสอน แม่ฮ่องสอนหนุนปลูก กัญชง เข้าร่วมโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ให้ชุมชน

แม่ฮ่องสอนหนุนปลูก กัญชง เข้าร่วมโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ให้ชุมชน

423
0

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่  28 มิ.ย 65  นายรรัณย์พล แสงทอง ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน ร่วมกับกลุ่มวิสหากิจชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้ นำรองปลูกกัญชงจำนวน 1,600 ต้น ในพื้นที่จัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) ที่หมู่ 6 บ้านแม่จ๋า ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ในเนื้อที่  7 ไร่  เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ลดพื้นที่บุกรุกป่า โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาต้นกล้ากัญชง และการเตรียมพื้นที่แปลงปลูกจากทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทั้งนี้นางมัณฑนา กาศสนุก ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศรัยอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนได้นำนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายร่วมศึกษาและทำการปลูกกัญชงในโครงการสร้างป่าสร้างรายได้หลังมีการนำพืชกัญชง กัญชา จัดทำเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน ของ กศน. แม่ฮ่องสอน

โดยนายกรัณย์พล แสงทอง ผู้อำนวยการสำนักการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า “ การส่งเสริมปลูกกัญชง เป็นการดำเนินโครงการควบคู่กันระหว่างโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ของกรมป่าไม้และโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน(คทช.) ของรัฐบาล  เพื่อเป็นการรักษาป่าไม่ให้ถูกบุกรุก และเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ตลอดจนเป็นการสร้างความมั่นคงในเรื่องที่ดินทำกินให้กับประชาชน เนื่องจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนเกษตรกรมีพื้นที่เพาะปลูกค่อนข้างน้อย จึงเลือกส่งเสริมให้เกษตรกรทำการปลูกกัญชง เพราะมองว่าเป็นพืชที่ใช้พื้นที่น้อยแต่สร้างมูลค่าอัตราต่อไร่ค่อนข้างสูงมากกว่าพืชเชิงเดี่ยวชนิดอื่นที่ทดลองปลูกมาก่อนซึ่งมักประสบปัญหาราคาตกต่ำ และตลาดรับซื้อที่อยู่ห่างไกล  ขณะที่การปลูกกัญชง ก็ง่ายแก่การดูแลรักษา ราคาก็ค่อนข้างสูงได้มากกว่าปลูกข้าวโพดถึง 40 เท่า และมีบริษัทวีอีโค จำกัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รับซื้อโดยตรงอยู่แล้ว

ผู้อำนวยการสำนักการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอนกล่าวต่อไปอีกว่า การปลูกกัญชงนั้นเป็นการช่วยทั้งมิติของธรรมชาติ มิติวัฒนธรรม มิติสังคม และมิติทางด้านเศรษฐกิจ  เพราะว่ากัญชงเป็นวิถีชีวิตของชาวเขาโดยเฉพาะชาวม้งในอดีตอยู่แล้ว ทั้งเสื้อผ้าชุดม้งผลิตมาจากใยกัญชง ซึ่งจะเห็นได้ว่าต้นกัญชงมีสารที่ต่อต้านแบคทีเรียได้ดี จะสังเกตุว่าเสื้อผ้าจะไม่ค่อยสกปรกและมีกลิ่น  ดังนั้นการปลูกกัญชงในพื้นที่สร้างป่าสร้างรายได้ของกรมป่าไม้ เมื่อรวบรวมเข้ากับโครงการ คทช. แล้วก็จะสามารถสร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนให้แก่ราษฎรชาวไทยภูเขาในจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้อย่างแน่นอน

ขณะที่ นางมัณฑนา กาศสนุก ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศรัยอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนกล่าวกรณีถึงกรณีนำพืชกัญชง และกัญชา จัดทำเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนว่า “  หลังมีการปลดล็อคกัญชงและกัญชา ทาง กศน. อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนได้จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับพืชกัญชง กัญชาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้น เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม  จึงควรเรียนรู้อะไรใหม่ที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ

ซึ่งการเลือกทำหลักสูตรกัญชงและกัญชา คาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความเข้าใจให้กับทั้งนักศึกษาและคนในชุมชน ซึ่งในการเรียนการสอนจะมีทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข  ผู้รู้ นักกฏหมาย มาอธิบายให้นักเรียนได้เข้าใจว่าพืชกัญชง กัญชาสามารถทำได้แค่ใหน อย่างไร ส่วนการที่นำพืชกัญชง กัญชาจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน เพราะมองว่ากัญชง กัญชา ปกติก็อยู่ในชีวิตประจำวันของชาวดอยอยู่แล้ว  เพราะคนบนพื้นที่สูงมักจะมีการปลูกสักต้น สองต้นเพื่อใช้เป็นยาในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหรือกินเพื่อบรรเทาอาการก่อนจะมาพบแพทย์  ตลอดจนใช้ในการประกอบอาหาร ซึ่งทำมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ  ดังนั้นเมื่อมีการปลดล็อคกัญชง กัญชา เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายแล้ว จึงต้องส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่นักศึกษาว่าสามารถดำเนินการหรือเกี่ยวข้องกับพืชทั้งสองชนิดนี้ได้อย่างถูกต้องอย่างไรบ้าง .

โชติ  นรามณฑล แม่ฮ่องสอน

Like (0)
บทความก่อนหน้านี้วัดดังเมืองปาย ขึ้นป้ายงดรับบริจาค หลังสำนักพุทธ ฯ แจ้งเป็นวัดร้าง
บทความถัดไปSUN ชูแนวคิด BCG นำพันธมิตรโชว์นวัตกรรมการเกษตรในงาน FTI Expo 2022