หน้าแรก ข่าวเชียงราย ลวดลายศิลปะนับกว่าพันปี ตำนานเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง

ลวดลายศิลปะนับกว่าพันปี ตำนานเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง

926
0

เครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง ขึ้นชื่อว่ามีความสวยงาม และมีประวัติอันยาวนานกว่าพันปี จากสภาพภูมิศาสตร์ตามลักษณะภูมิประเทศอันอุดมสมบูรณ์ของเวียงกาหลงจึงทำให้เวียงกาหลง จึงมีผู้คนเป็นจำนวนมากอพยพมาอาศัยและทำกินอยู่ในเขตนี้ โดยค้นพบเตาเผาโบราณอย่างมากมายในบริเวณพื้นที่แห่งนี้

เครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง เป็นหนึ่งในงานหัตถกรรมไทยที่สร้างความประทับใจให้บรรดาผู้นำจากทั่วโลก ในบรรดาเครื่องถ้วยภาคเหนือ หรือที่เรียกว่า เครื่องถ้วยล้านนานั้น เครื่องถ้วยของชุมชนเวียงกาหลง นับเป็นเครื่องถ้วยที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด เพราะมีทั้งลักษณะที่สวยงาม น้ำหนักเบา เนื้อบาง เกิดจากเนื้อดินชั้นดีที่นำมาใช้ปั้น มีการเคลือบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นิยมเคลือบถึงบริเวณเชิงของภาชนะ น้ำเคลือบใสมีทั้งสีฟ้าอ่อน สีเขียวอ่อน และสีเหลืองอ่อน ผิวของเครื่องถ้วยมีรอยแตกรานสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของเครื่องปั้นเวียงกาหลงมาแต่โบราณ

“สล่าทัน ธิจิตตัง” เป็นลูกหลานชาวนาในชุมชนเวียงกาหลง ได้เล็งเห็นคุณค่าที่มีอยู่ในเวียงกาหลง เมื่อชาวบ้านไปช่วยกันขุดเศษซากเตาโบราณ และเครื่องเคลือบดินเผาไปขาย สล่าทัน จึงได้ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ความเป็นมา และร่องรอยอารยธรรมอันเก่าแก่ของชุมชนเวียงกาหลง และเครื่อง เคลือบดินเผาเวียงกาหลง

ทำให้สล่าทันได้เรียนรู้กรรมวิธีการผลิต การเผา วัตถุดิบที่สำคัญคือ ดินที่อยู่ในพื้นที่เวียงกาหลง ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษในเรื่องความเบาของเนื้อดินและบางหลังจากการเผา รวมถึงลาดลายที่วิจิตรงดงามอันเป็นเอกลักษณ์ ของเวียงกาหลง จึงได้ทำการทดลองผลิตเครื่องเคลือบดินเผาโดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่ สามารถผลิตเครื่องเคลือบที่มี คุณสมบัติใกล้เคียงกับเครื่องเคลือบดั้งเดิม

โดยคุณลุงวัย 50 ปี ในฐานะประธานกลุ่มเครื่องเคลือบเวียงกาหลงแบบโบราณ ผู้ชำนาญการด้านเครื่องเคลือบ อีกทั้งยังได้รับรางวัลปราชญาพญ๋าดีศรีล้านนา เมื่อปี 2553 บอกเล่าความเป็นมาของเครื่องเคลือบเวียงกาหลง ว่าเพราะเวียงกาหลง เป็นแหล่งกำเนิดของความเจริญด้านศิลปะและศาสนา โดยเฉพาะ “เครื่องถ้วย” กระทั่งประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และโรคระบาดอย่างรุนแรง ทำให้ผู้คนต้องละทิ้งบ้านเมือง

ต่อมาชาวบ้านจึงได้กลับมาก่อตั้งชุมชนขึ้นใหม่อีกครั้ง คุณลุงทันบอกว่า ถ้าพูดถึงเวียงกาหลง ทุกคนจะรู้โดยทันทีว่าเป็นแหล่งที่มีเครื่องเคลือบที่ดีที่สุดของล้านนา เพราะดินที่นำมาทำเครื่องเคลือบมีคุณภาพดี “ที่สำคัญคนเวียงกาหลงได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำเครื่องเคลือบมาจากอดีต

โดยมีลักษณะเด่น คือ น้ำหนักเบา เนื้อบาง ดินที่นำมาทำเครื่องเคลือบ จากการศึกษาสำรวจของนักวิชาการเขาบอกว่า เป็นดินลาวา เพราะแต่ก่อนในย่านนี้สันนิษฐานว่าเคยเกิดการระเบิดของภูเขาไฟมาแล้ว ทำให้ดินที่สะสมมานานหลายพันปีนั้น เป็นดินที่เกิดจากการย่อยสลายของลาวา ซึ่งชาวบ้านได้ค้นพบและนำมาทำเครื่องเคลือบ จึงทำให้น้ำหนักเบา ทนไฟได้สูง เมื่อเคลือบไฟสูงก็ยังสามารถรักษารูปทรงเอาไว้ได้เป็นอย่างดี”

สาเหตุทุกคนในชุมชนต้องอนุรักษ์เครื่องเคลือบเวียงกาหลงเอาไว้ ว่า เพราะวัตถุโบราณของเวียงกาหลงเคยถูกคนต่างชาติ และพ่อค้าของเก่า มากว้านซื้อไปขายเป็นจำนวนมาก ทั้งขายในประเทศ และส่งออกนอกประเทศ เพราะความโลภและมองไม่เห็นคุณค่าของวัตถุโบราณเวียงกาหลง


“เครื่องเคลือบเวียงกาหลงสมัยโบราณเป็นอย่างไร มาถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างยังคงความเป็นต้นแบบของโบราณ แม้กระทั่ง “ขี้เถ้า” ก็ยังใช้ทำน้ำเคลือบเช่นที่เคยเป็นมา คือจะเคลือบน้ำเคลือบถึงบริเวณเชิงของภาชนะ ลักษณะน้ำเคลือบจะใส มีทั้งสีฟ้าอ่อน สีเขียวอ่อน และสีเหลืองอ่อน มักมีรอยแตกราน

“ที่หมู่บ้านยังเก็บเครื่องถ้วยลายโบราณแบบเดิมๆ ของเวียงกาหลงเอาไว้จำนวนมาก เพื่อให้ผู้คนที่สนใจได้มาเห็นมาดู เพราะต่อไปในอนาคตไม่แน่ว่าจะหาดูได้อีก เนื่องจากความเก่าแก่ของเครื่องถ้วย ทำให้ลายบางลายแตกสลายไปก็มี บางลายเก็บเอาไว้ได้แต่ก็แตกหักไม่คงสภาพเดิม แต่เราก็ไม่ทิ้งจะเก็บเอาไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นลวดลายที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีต”ไม่เพียงแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญมีความรู้เรื่องเครื่องถ้วยโบราณเวียงกาหลงเท่านั้น แต่คุณลุงทันยังได้ถ่ายทอดความรู้ที่มีให้กับเยาวชนรุ่นหลังด้วย

“เพราะต้องการสอนให้ลูกหลานได้รู้จักอดีตและที่มาของวัตถุโบราณชนิดนี้ เมื่อมีใครเขาถามจะได้ตอบเขาได้ ไม่ขายหน้าที่เป็นคนในท้องถิ่น และสามารถเล่าความเป็นมาของตัวเองได้อย่างน่าภาคภูมิใจ”เครื่องเคลือบเวียงกาหลง ลายไม่เหมือนที่อื่น เช่น ลายที่เป็นที่รู้จักกันมาก คือ “รูปตัวกา” บินมารวมกันเป็นรูปดอกไม้ ลวดลายที่ปรากฏบนผิวเครื่องเคลือบมักจะบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่น หรือถ้าเป็นลายดอกไม้ พรรณไม้ ก็มักเป็นพันธุ์ไม้ที่มีในเวียงกาหลง

ปัจจุบันมีกลุ่มชาวบ้านที่ทำเครื่องเคลือบเวียงกาหลงประมาณ 8 กลุ่ม โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเวียงกาหลง เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด โดยการทำเครื่องเคลือบ 70% ยังรักษารูปแบบดั้งเดิมไว้ ส่วนอีก 30% เป็นการประยุกต์รูปแบบใหม่ เช่น จานข้าว แก้วน้ำ กาน้ำชา และของตกแต่งบ้างปัจจุบัน คุณนฤมล ธิจิตตัง ทายาท สล่าทัน ได้สืบสานต่อยอดภูมิปัญญาอันล้ำค่าเหล่านี้ อีกทั้งยังสามารถผลักดันเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง ให้เป็นสินค้า GI (สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) เชียงรายแบนด์ กลุ่มเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง อีกด้วย

บ้านสล่าทัน ธิจิตตัง 97 ม.3 ต.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
โทร 089-8385874/ 093 249 6600

Like (0)
บทความก่อนหน้านี้ชมรมเพลินไทยสมัยนิยม ร่วมกิจกรรม “สืบสานปณิธานพระเจ้าอินทวิชยานนท์-อินทนนท์โมเดล”
บทความถัดไปสวนพฤกษศาสตร์ฯ เชิญเที่ยวงาน Botanic Festival 2023