หน้าแรก ข่าวเชียงราย จากใบสับปะรดสู่เส้นใยในการทอผ้างาม เชื่อมโยงการท่องเที่ยวและวิถีชีวิต

จากใบสับปะรดสู่เส้นใยในการทอผ้างาม เชื่อมโยงการท่องเที่ยวและวิถีชีวิต

886
0

สับปะรดถือเป็นผลไม้เศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งที่จังหวัดเชียงราย ที่พันธุ์นิยมปลูกได้แก่พันธุ์นางแล,ภูแล,ปัตตาเวีย โดยลักษณะเด่นของสับปะรดพันธุ์ภูแลคือรสชาติหอมหวาน เนื้อกรอบไม่แข็ง ผลมีขนาดเล็กโดยเฉลี่ย 4-5 ผล ต่อกิโลกรัม ส่วนสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ผลมีขนาดใหญ่กว่าสับปะรดสายพันธุ์อื่นๆ เนื้อจะหวานฉ่ำเป็นพิเศษ ความพิเศษของสับปะรดนอกจากจะได้ชิมผลที่หวานกรอบ อร่อยแล้ว ใบสับปะรดยังสามารถสกัดไปทำเส้นใยผ้าได้อีกด้วย

เส้นใยสับปะรดเป็นหนึ่งในเส้นใยธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับเพื่อเป็นเส้นใยในเชิงอุตสาหกรรม เน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นจุดขายหลัก ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งในเรื่องลดการพึ่งพาวัสดุสังเคราะห์ โดยหันมาใช้ประโยชน์จากวัสดุหมุนเวียนทดแทนและนับเป็นการนำเอาเศษเหลือทิ้งจากแปลงปลูกสับปะรดมาเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นอีกด้วย

ที่ชุมชนบ้านทุ่งพัฒนา ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ส่วนใหญ่ประชากรในพื้นที่เป็นชนชาติพันธุ์เผ่าม้ง อาชีพของประชากรส่วนใหญ่นิยมทำไร่ ได้แก่การปลูกสับปะรด ซึ่งที่นี่ได้ทำการปลูกสับปะรดพันธุ์ภูแลและพันธุ์ปัตตาเวีย เป็นการปลูกแบบออร์แกนิค ไม่ใช่สารเคมีใดๆ

แต่เดิมได้มีการปลูกเพื่อเอาผลอย่างเดียว โดยใน 1 ปี เกษตรกรสามารถปลูกสับปะรดได้เพียงปีละครั้ง ใบสับปะรดที่มักถูกทิ้งและไม่เห็นถึงความสำคัญใดๆ จึงเป็นแค่ซากต้นซากใบที่ไร้ประโยชน์

ต่อมาศูนย์เรียนรู้ไทยเฮิร์บ ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมเชียงราย ได้เข้ามาเผยแพร่องค์ความรู้ในการพัฒนาต่อยอด โดยการรับซื้อใบสับปะรดจากเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อนำมาแปรรูปเป็นเส้นใยในการทอผ้า ด้วยกรรมวิธีภูมิปัญญาชาวบ้าน การย้อมสีธรรมชาติ และออกแบบเสื้อผ้าให้เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ซึ่งถือเป็นการยกระดับงานหัตถกรรมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน

โดยเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 ได้มีกิจกรรมสื่อมวลชนสัมพันธ์ แฟมทริปการค้าเชื่อมโยงการท่องเที่ยวและวิถีชีวิตสินค้าและสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ผ้าพื้นมือง ได้เดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ชุมชนที่จังหวัดเชียงราย เพื่อเยี่ยมชมการผลิตผ้าจากใยสับปะรดที่ชุมชนบ้านทุ่งพัฒนา ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงรายและที่ศูนย์เรียนรู้ไทยเฮิร์บ ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมเชียงราย

ถือเป็นการเรียนรู้ เข้าถึงกระบวนการผลิตเส้นใยในการทอผ้าจากสับปะรด อีกทั้งเป็นการต่อยอด เพิ่มช่องทางให้กับกลุ่มคู่ค้าและผู้ประกอบการ ในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของชุมชนต่อไป

พัชรินทร์ คันธรส/นที บุญมี
ข่าวมุมเหนือ รายงาน

Like (0)
บทความก่อนหน้านี้สวนสัตว์เชียงใหม่บริการถึงใจ..ติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้า EV แก่นักท่องเที่ยว
บทความถัดไปประกาศเลิกกิจการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แวลู คอนซัลทิง แอคเคาท์