หน้าแรก ข่าวทั่วไป “ฉลาด กมลรัตน์” นักร้องนักดนตรีชาวจังหวัดอุบลราชธานีที่มาสร้างชื่อเสียงที่เชียงใหม่

“ฉลาด กมลรัตน์” นักร้องนักดนตรีชาวจังหวัดอุบลราชธานีที่มาสร้างชื่อเสียงที่เชียงใหม่

851
0

เชื่อว่าชาวเชียงใหม่วัย ๔๐ ปีขึ้นไปที่ชอบฟังเพลงมักรู้จักนักร้องนักดนตรีที่ชื่อ “ฉลาด กมลรัตน์” เจ้าของน้ำเสียงทุ้มมีพลัง อาจเป็นนักร้องนักดนตรียุคแรกๆ จากต่างจังหวัดที่มายึดอาชีพเล่นดนตรีที่เชียงใหม่

คุณฉลาด กมลรัตน์ ปัจจุบันอายุ ๗๕ ปี(เกิดปี พ.ศ.๒๔๙๑) เกิดที่จังหวัดมุกดาหาร(สมัยเป็นอำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม) มาเรียนหนังสือชั้นมัธยมและใช้ชีวิตที่จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มเข้าสู่วงการเพลงโดยยึดอาชีพนักร้องนักดนตรีเมื่อเข้าวัยหนุ่มโดยร่วมวงดนตรีกับกลุ่มเพื่อนร้องตามแคมป์ทหารสหรัฐอเมริกาสมัยสงครามเวียดนาม

“สมัยนั้นเล่นดนตรีตามแคมป์ทหารอเมริกันที่มาตั้งฐานทัพอยู่ทางจังหวัดต่างๆ ทางภาคอิสานเพื่อรบในสงครามระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้(ระหว่าง พ.ศ.๒๕๐๗-๒๕๑๕) ตระเวนเล่นหลายจังหวัดเช่น อุดรธานี, นครราชสีมา, อู่ตะเภา จังหวัดระยอง, ที่เกาะคา จังหวัดลำปางก็เคยมา สมัยนั้นมีค่ายทหารอเมริกันเล็กๆ ต่อมาย้ายไปเล่นที่กรุงเทพฯ ที่โรงแรมเจ้าพระยา ถนนศรีอยุธยา โรงแรมแห่งนี้ทหารอเมริกันเช่าพักอาศัย

“วงที่ผมเล่นวงแรกชื่อ วงมิราเคิล เป็นวงใหญ่มีเครื่องเป่า ต่อมาแยกมาเล่นวงเดอะรีซั่นส์(THE REASONS)
“เมื่อสงครามเวียดนามเลิก ทหารอเมริกันเดินทางกลับกันหมด ผมย้ายมาเล่นที่โรงแรมไฮแอตรามา วงเดอะรีซั่นส์ได้รับความนิยมมากกลุ่มคนเที่ยวมักเป็นไฮโซ ยุคนี้วงดนตรีไทยเริ่มเป็นที่นิยมโดยเฉพาะวงดนตรีดิอิมพอสซิเบิ้ล นักร้องนำคือ เศรษฐา ศิริฉายา ต่อมาย้ายมาเล่นที่โรงแรมรามาด้าอยู่แถวหน้าไปรษณีย์กลาง ช่วงนี้เองที่สิทธิพร อมรพันธ์ แยกจากวงดิอิมพอสซิเบิ้ลมาอยู่ร่วมกับวงเดอะรีซั่นส์ที่ผมเล่น เขาเล่นกีต้าโซโล่ หลังจากนั้นไปเล่นที่ไต้หวัน ๒ เดือน”

ประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๘ หลังจากหมดสัญญาเล่นที่ไต้หวันแล้ว วงเดอะรีซั่นส์เดินทางมาเล่นที่โรงแรมพรพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ คุณฉลาด กมลรัตน์ เล่าบรรยากาศที่โรงแรมพรพิงค์ในสมัยนั้นว่า
“หมดสัญญาที่ไต้หวันแล้วเราได้รับการติดต่อจากผู้จัดการโรงแรมพรพิงค์ เชียงใหม่ ให้มาเล่นที่ซับเปอร์คลับ ชั้นใต้ดินของโรงแรมพรพิงค์ สมัยนั้นโรงแรมพรพิงค์ยังไม่ได้สร้างเพิ่ม เป็นโรงแรมขนาดเล็ก ๔ ชั้น ถนนเจริญประเทศด้านหน้าโรงแรมยังเปลี่ยว ยังไม่มีตึกแถวเปิดร้านค้าเหมือนในยุคต่อมา ตรงกันข้ามเป็นโรงแรมเพชรงามที่เป็นโรงแรมเล็กเช่นกัน มีเพียงอาคารตึกด้านหน้าติดถนน ยังไม่ได้สร้างอาคารใหญ่ติดแม่น้ำปิง

“วงเดอะรีซั่นส์สมัยที่มาเล่นที่ซัปเปอร์คลับมีผมเล่นเบส, วรรณยศ มิตรานนท์(ต๊อด)เล่นกลองชุด, ธนิศรเล่นเครื่องเป่า, บรรดิษฐ์ คมศาสตราเล่นกีต้าร์, ชำนาญ ชอุ่มงามเล่นคีร์บอร์ด, สิทธิพรเล่นกีร์ต้าและโสภา ไชยกุล เป็นนักร้อง
“ซับเปอร์คลับยุคนั้นคนมาเที่ยวมักจะเป็นคนวัยทำงานที่ต้องการมาฟังเพลง มาเต้นรำ เช่น อาจารย์ ม.ช. อาจารย์ ม.พายัพ มีนักศึกษาบ้างที่มีระดับหน่อย การเต้นก็แบบสไตล์เรียบร้อยไม่เหมือนในยุคต่อมาที่เป็นกลุ่มวัยรุ่น สมัยนั้นแขกแน่นแทบทุกคืน ส่วนห้องอาหารของโรงแรมพรพิงค์มีวงหลุยส์แอนด์บราเดอร์ส เล่นดนตรี ๓ ชิ้นเน้นเพลงเบาๆ

“สมัยนั้นวงของเชียงใหม่ที่เป็นคนเชียงใหม่เล่นที่มีชื่อเสียง คือ วงเฟมัสและวงเลอเดอมองค์ ดังไม่ด้อยกว่าวงจากกรุงเทพฯ”
จากโรงแรมพรพิงค์ คุณฉลาด กมลรัตน์และวงรีซั่นไปเล่นที่ไต้หวันอีกครั้งหนึ่ง ระยะเวลาเพียง ๒ เดือน กลับมาเล่นที่โรงแรมพรพิงค์รอบที่สอง ครั้งนี้มีบางคนแยกไปเล่นวงอื่นคงเหลือเพียง ๓ คน เปลี่ยนชื่อวงจากวงเดอะรีซั่นสเป็น “วงโสภาทริโอ”

“กลับจากไต้หวันบางคนแยกไปเล่นวงอื่น คงเหลือผม ธนิศร(สมพร) โหมานันท์และโสภา ไชยกุล จึงร่วมกันตั้งชื่อวงใหม่ว่า โสภาทริโอ ผมเล่นเบส ธนิศรเล่นอิเทคโนและโสภาเป็นนักร้อง มักร้องเพลงสากลรุ่นเก่าๆ ของวงคาร์เพนเตอร์
“วงโสภาทริโอเล่นที่ห้องอาหารของโรงแรมพรพิงค์ เวลาเที่ยงคืนถึงตีสอง โดยเล่นต่อจากวงหลุยส์แอนด์บราเดอร์ส และเล่นตอนกลางวันด้วยเวลาเที่ยงวันถึงบ่ายสอง ห้องอาหารของโรงแรมพรพิงค์สมัยนั้นมื้อกลางวันมักมีข้าราชการมานั่งกินข้าวและฟังเพลง ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการป่าไม้ ชลประทาน อาจารย์ ม.ช. กรมทาง เป็นต้น

“ช่วงนี้ตอนค่ำผมว่างจึงไปรับงานร้องเพลงที่ห้องอาหารโรงแรมปอยหลวงและหัดเล่นอิเลคโทนจนเล่นได้ สมัยนั้นโรงแรมปอยหลวงมักมีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเป็นกรุ๊ปทัวร์มาพักก่อน นักร้องคนหนึ่งที่ไปร้องเพลงที่โรงแรมปอยหลวงคือ เอ็บบี้ นักร้องลูกครึ่งที่เป็นคนเชียงใหม่”
จากห้องอาหารโรงแรมพรพิงค์ วงโสภาทริโอย้ายไปเล่นที่ภัตตาคารนิวซีเอ็ม. หลังจากนั้นคุณฉลาด กมลรัตน์ แยกไปเล่นที่ห้องอาหารเฟื่องฟ้า โรงแรมสุริยวงศ์ จึงเป็นการสิ้นสุดของวงโสภาทริโอนับแต่นั้น คุณฉลาดเล่าว่า

“ช่วงที่เล่นที่ห้องอาหารของโรงแรมพรพิงค์ เสี่ยสมพร อัศวเหม(น้องชายของคุณวัฒนา อัศวเหม)มาลงทุนทำภัตตาคานิวซีเอ็ม.อยู่หน้าโรงแรมเชียงอินทร์ มักมานั่งฟังวงผมเล่นเป็นประจำ เมื่อวงผมหมดสัญญากับโรงแรมพรพิงค์แล้วคุณสมพรจ้างไปเล่นที่ภัตตาคารนิวซีเอ็ม.
“ภัตตาคารนิวซีเอ็ม.เป็นภัตตาคารอาหารจีนอยู่หน้าโรงแรมเชียงอินทร์ ในห้องอาหารมีเวทีที่ไม่ใหญ่โตมากนัก วงโสภาทริโอเล่น ๒ ช่วง คือช่วงเที่ยงวันและกลางคืน ต่อมาคุณชูศักดิ์ นำพรรษาวงศ์ ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการอาหารเครื่องดื่มที่โรงแรมปอยหลวงมีความคุ้นเคยกับผม คุณชูศักดิ์ย้ายมาเป็นผู้จัดการฝ่ายอาหารและเครื่องดื่มที่โรงแรมสุริวงศ์ต้องการดึงแขกมาห้องอาหารเฟื่องฟ้าจึงมาชวนผมไปเล่น สมัยนั้นโรงแรมสุริวงศ์ยังเป็นของเจ้าไชยสุริวงศ์ ผมจึงแยกจากวงโสภาทริโอไป สมาชิกในวงคือ ธนิศรไปเล่นที่โรงแรมเวียงอินทร์ เชียงราย ต่อมามาตั้งชมรมนักดนตรีอาชีพเชียงใหม่รวมกลุ่มกันช่วยเหลืองานกุศล ภายหลังธนิศรโยกย้ายไปอยู่เชียงราย ส่วนโสภาย้ายกลับไปมีครอบครัวอยู่กรุงเทพฯ

“ในปี พ.ศ.๒๕๒๔ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๓๓ รวม ๙ ปีผมไปเล่นที่ห้องอาหารเฟื่องฟ้าคนเดียว เล่นดนตรีอิเทคโทนและร้องเพลง ภายหลังมีนักร้องมาเสริม เน้นเพลงลูกกรุง เพลงสากลรุ่นเก่า ใหม่และเพลงลูกทุ่งบางเพลง มีกลุ่มผู้หญิงที่ชื่นชอบตามไปฟังที่ห้องอาหารเฟื่องฟ้าไม่น้อย นอกจากนี้มีข้าราชการผู้ใหญ่ไปนั่งฟังเพลงกลางคืน เช่น ข้าราชการกรมชลประทาน กรมป่าไม้ กรมทาง ที่ดิน นายตำรวจ นายทหาร ทำให้รู้จักคุ้นเคยกัน โดยเฉพาะนายตำรวจบางครั้งมีงานเลี้ยงที่ลำปางซึ่งสมัยนั้นกองบัญชาการอยู่ที่จังหวัดลำปาง ท่านพิจิตร อิ่มสงวนมักรับผมไปเล่นในงานหลายครั้ง ที่ห้องอาหารเฟื่องฟ้าปกติเลิกตี ๒ แต่บางครั้งนั่งดื่มกันจนเช้า

“ภายหลังมีวงดนตรีมาเล่นสลับกับผม ชื่อวงสวีท เป็นนักดนตรีเชียงใหม่ นอกจากนี้มีนักร้องมาร้องเพิ่ม คนหนึ่งคือ เก่งหรือศิริพร เคยได้รับรางวัลนักร้องดีเด่นของนิสสันอวอร์ด หน้าตาดีร้องเพลงเสียงดีคล้ายเสียงของนัดดา วิยะกาญจน์ ต่อมามีนักร้องเสียงดีมาร่วมร้องด้วยชื่อสุปราณี สมใจชื่อเล่นว่า แจ๊ด นอกจากเล่นประจำที่ห้องอาหารเฟื่องฟ้า โรงแรมสุริวงศ์แล้วยังรับงานนอกด้วย งานเลี้ยงต่างๆ เจ้าภาพมักมาจ้างไปให้ความบันเทิงคนมาร่วมงาน”

คุณฉลาด กมลรัตน์และคุณสุปราณี สมใจ(แจ๊ด) ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้ห้องอาหารเฟื่องฟ้าในยุคนั้นเป็นที่นิยมของนักฟังเพลงกลางคืน คุณฉลาดเล่นที่ห้องอาหารเฟื่องฟ้า ๙ ปี ต่อมาได้เปลี่ยนไปทำอาชีพค้าขายที่ดินอยู่ประมาณ ๒ ปี ต่อมากลับมายึดอาชีพเดิมอีกครั้งหนึ่ง
“ผมออกไปค้าขายที่ดินอยู่เกือบ ๒ ปี ต่อมาคุณวัชระ ตันตรานนท์ เจ้าของฮิลไซด์คอนโดมิเนียม ถนนห้วยแก้ว ชวนไปเล่นที่ล็อบบี้ของฮิลไซด์คอนโดฯ ตั้งอยู่ชั้นล่าง ร้องเพลงอยู่ที่ฮิลไซด์คอนโดประมาณ ๒ ปีก็ออกไปลงทุนทำห้องอาหารของตัวเองและร้องเพลงด้วย ชื่อว่า ครัวสวัสดี ตั้งอยู่ชั้นล่างของคลินิคทำฟันของคุณหมอแสวง ใกล้แยกข่วงสิงห์ โดยจำหน่ายอาหารมื้อกลางวันแบบบุฟเฟท์ราคาคนละ ๖๐ บาท ได้รับความนิยมมาก ภายหลังได้ย้ายร้านครัวสวัสดีไปอยู่ที่ร้านอาหารขนุนเดิมโดยสร้างตึก ๒ ชั้นเปิดร้านครัวสวัสดีเช่นเดิม ประมาณ ๑๐ ปีแรกขายดีจนเริ่มมีการขุดอุโมงค์แยกข่วงสิงห์ ใช้เวลาสร้างหลายปีทำให้ลูกค้าไม่ได้รับความสะดวก เมื่อครบสัญญาเช่าที่ ๑๕ ปีแล้วผมไปเล่นที่ห้องอาหารพลับพลาที่คุ้มขันโตกของคุณวัชระ ตันตรานนท์จนเกิดวิกฤตโควิดระบาดจึงหยุดชั่วคราว”

ด้วยความสามารถทำให้คุณฉลาด กมลรัตน์ ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำในปี พ.ศ.๒๕๒๒ คุณฉลาดเล่าว่า
“สมัยที่เล่นดนตรีและร้องอยู่กับวงโสภาทริโอที่โรงแรมพรพิงค์ ทางบริษัทโซนิคชวนไปอัดแผ่นเสียงวางจำหน่าย ชื่ออัลบั้มสาวเหนือเอย มีเพลง ๑๒ เพลง และได้ส่งเพลงที่ผมร้องรวม ๒ เพลงเข้าประกวดคือ เพลงป่าซางฝังใจและเพลงสาวเหนือเอย ปรากฏว่าคณะกรรมการเห็นว่าเพลงป่าซางฝังใจมีคุณภาพและตัดสินให้ผมได้รับรางวัลประเภทนักร้องดาวรุ่งลูกกรุงชายจากเพลงป่าซางฝังใจในปี พ.ศ.๒๕๒๒ เดินทางไปรับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานต้นปี พ.ศ.๒๕๒๓ ที่พระราชวังดุสิตฯ จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เป็นความภาคภูมิใจในชีวิตของผม”
ปัจจุบันคุณฉลาด กมลรัตน์ ยังรอสถานการณ์โควิดจะเบาลงเพื่อกลับมารับงานด้านดนตรีที่ตนเองรักอีกครั้งหนึ่ง.

พ.ต.อ.อนุ เนินหาด เรียบเรียง

Like (0)
บทความก่อนหน้านี้สืบสานประเพณีปีใหม่ม้ง (น่อ เป๊ เจ่า ม้ง) บ้านบวกจั่น อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
บทความถัดไปเชียงคำไม่ธรรมดา กะละแมโบราณสูตรของไทลื้อ อร่อยจนหยุดไม่อยู่